วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายที่ดินพม่า

 กฎระเบียบด้านการลงทุน
         หน่วยงานที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ

                    คณะรัฐมนตรีพม่าได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนแห่งสหภาพพม่า (Myanmar Investment
Commission : MIC) ให้ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศ (The Union of Myanmar Foreign Investment Commission : FIC) เป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น
 
         รูปแบบการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่า มี 2 รูปแบบ คือ
                  1.    การลงทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้น 100%
                  2.    การร่วมลงทุน แบ่งเป็น
                         2.1    การร่วมลงทุนกับรัฐบาลพม่า นักลงทุนต่างชาติสามารถเจรจาขอร่วมลงทุนกับหน่วยงานต่าง ๆ
ของรัฐบาลพม่าในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 35% ของมูลค่าเงินลงทุนรวม โดยต้องทำโครงการยื่นเสนอต่อ FIC
                         2.2    การร่วมลงทุนกับเอกชนพม่า   นักลงทุนต่างชาติจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 35% เช่นเดียวกัน
                         2.3    รัฐบาลพม่าอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในลักษณะที่เป็น BOT (Build Operate and Transfer) ในธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์  ส่วนการลงทุนที่เป็น PSC (Production Sharing Contract) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเฉพาะด้านการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์เท่านั้น

              เงินลงทุนขั้นต่ำของนักลงทุนต่างชาติ (Minimum Foreign Capital)
                  MIC ได้กำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำของนักลงทุนต่างชาติ ดังนี้
                  1.    การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ
                  2.    การลงทุนในภาคบริการ  ต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ

         ขั้นตอนการขออนุมัติการลงทุน
                   นักลงทุนต่างชาติต้องยื่นคำร้องขอลงทุนต่อ MIC พร้อมแนบเอกสารสำคัญของโครงการ ดังนี้
                  1.    Business Profile พร้อมเอกสารแสดงความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัท
                  2.    Bank Reference เพื่อรับรองฐานะทางการเงินของนักลงทุน/บริษัท
                  3.    รายละเอียดสำคัญของโครงการลงทุน เช่น ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ฯลฯ
                  4.    สัญญาของโครงการลงทุนที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการนั้น ๆ ในกรณีที่เป็นการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติทั้ง 100%
                  5.    สัญญาระหว่างผู้ร่วมทุน ในกรณีที่เป็นการร่วมทุน
                  6.    ข้อตกลงการเช่าที่ดิน (ตามข้อ ซึ่งขึ้นกับการพิจารณาของรัฐบาลพม่า)
                  7.    Memorandum and Articles of Association ถ้าโครงการร่วมลงทุนดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของบริษัทจำกัด (A Limited Company) รวมทั้งข้อตกลงเกี่ยวกับการเช่าที่ดิน (ถ้ามี)
                  8.    การยื่นขอยกเว้นภาษี หรือลดภาระภาษีตามข้อกฎหมายภายใต้ section ที่ 21 ของ FIL
 
                 MIC จะนำข้อมูลที่ได้ส่งต่อให้ FIC เพื่อให้เป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น โดย FIC มีเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติ อาทิ
                  1.    ต้องเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกหรือการพัฒนาทรัพยากรที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากหรือเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง หรือเป็นการผลิตหรือบริการที่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานมาก หรือเป็นโครงการประหยัดพลังงาน โดยโครงการลงทุนเหล่านี้ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาท้องถิ่น
                  2.    สำหรับธุรกิจประเภทการค้า ทั้งการค้าภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ จะต้องขออนุญาตจาก
กระทรวงการค้าของพม่าด้วย
                  3.    บริษัทต่างชาติจะต้องทำประกันภัยกับ Myanmar Insurance Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของพม่า  ส่วนการใช้บริการธนาคารจะต้องใช้กับธนาคารที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น
                  4.    หากมีการจ้างคนงานที่เป็นชาวต่างชาติหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นคนต่างชาติ จะต้องขออนุมัติจาก FIC ก่อน
                  5.    อื่น ๆ เช่น การคาดการณ์ผลกำไรประจำปี  การคาดการณ์รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ระยะเวลาของการคืนทุน โอกาสของการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวพม่า สถานการณ์ทางด้านตลาดทั้งภายในและต่างประเทศของสินค้าประเภทนั้น ๆ ข้อกำหนดการบริโภคสินค้าภายในประเทศพม่า ฐานะการเงินของผู้ลงทุน ฯลฯ

 สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

                  พม่าประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (The Union of Myanmar Foreign Investment Law: FIL)  โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับประเทศและดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น  โดยรัฐบาลพม่าได้ให้สิทธิประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่นักลงทุนต่างชาติมากมาย ดังนี้

                  1.    สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อาทิ
                         1.1  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax Holiday) ในช่วง 3 ปีแรก นับจากปีที่เริ่มดำเนินการ
                         1.2  ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ จากการนำผลกำไรกับไปลงทุนใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปี
                         1.3  ธุรกิจส่งออกจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% ของผลกำไรที่ได้จากการส่งออก
                         1.4  ได้รับสิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) ออกจากการคำนวณรายได้พึงประเมิน
                         1.5  ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าหรือภาษีท้องถิ่นอื่น ๆ (Internal Taxes) หรือทั้ง 2 ประเภท ที่เก็บ
จากการนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ ชิ้นส่วนและวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการ
                         1.6  ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าหรือภาษีท้องถิ่นอื่น ๆ หรือทั้ง 2 ประเภท ที่เก็บจากการนำเข้าวัตถุดิบในช่วง 3 ปีแรก นับจากปีที่เริ่มดำเนินการ

                  2.    หลักประกันและความคุ้มครอง
                         รัฐบาลพม่าให้ความคุ้มครองนักลงทุนชาวต่างชาติตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น
อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติโอนเงินทุนและผลกำไรกลับประเทศได้ และให้การรับรองว่ากิจการของนักลงทุนต่างชาติจะไม่ถูกยึดหรือถูกโอนไปเป็นของรัฐบาลในช่วงระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุน หรือช่วงที่ขยายเวลาในการลงทุนออกไป (ถ้ามี) ยกเว้น เป็นการกระทำเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะได้รับเงินชดเชยตามความเหมาะสม

 การใช้ประโยชน์จากที่ดิน (Land Utilization)
                 ภายใต้กฎหมายที่ดินของพม่า  นักลงทุนต่างชาติหรือบริษัทต่างชาติไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ แต่สามารถเช่า (Lease) จากรัฐบาลพม่า (อาจเช่าได้นานถึง 30 ปี) เพื่อใช้ในการลงทุนได้  ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเช่าอาจยืดหยุ่นได้ ขึ้นกับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าเป็นสำคัญ
 ปัญหา อุปสรรคทางการค้า การลงทุน และแนวทางแก้ไข

          ปัญหาและอุปสรรค

            1.  กระทรวงพาณิชย์พม่าได้ออกประกาศฉบับที่ 2/2000 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ห้ามนำเข้าสินค้าในรูปแบบการค้าปกติทางทะเล จำนวน 15 รายการ ซึ่งประกอบด้วย ผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค๊ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้)  เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด สินค้าที่ควบคุมการนำเข้าโดย กฎหมายที่มีอยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ
            2.  กระทรวงพาณิชย์พม่าได้ออกประกาศฉบับที่ 9/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ห้ามนำเข้าสินค้าในรูปแบบการค้าปกติผ่านทางชายแดน จำนวน 15 รายการ ซึ่งประกอบด้วย ผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค๊ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิด สินค้าที่ควบคุมการนำเข้าโดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ
             3.  พม่ากำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการจำกัดปริมาณนำเข้า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า เช่น
                  3.1 การเปิด L/C เพื่อนำเข้าสินค้า ต้องเป็นเงินที่ได้จากการส่งออกเท่านั้น
                  3.2 กำหนดเพดานการนำเข้า ไม่เกินปีละ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบริษัท
                  3.3 ห้ามนำเข้าสินค้า 15 ชนิด ได้แก่ ผงชูรส เครื่องดื่ม (Soft drink) ขนมปังกรอบ อาหารและผลไม้กระป๋อง เส้นหมี่และบะหมี่สำเร็จรูปทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์  ช็อกโกแลต เหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เบียร์  บุหรี่ ผลไม้สดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิดและสินค้าที่ควบคุมการนำเข้าโดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
              4. เส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมระหว่างไทยกับพม่า มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ
              5. ปัญหาการเรียกเก็บเบี้ยใบ้รายทางเป็นจำนวนมากจากรถบรรทุกสินค้า ที่ขนส่งสินค้าจากชายแดนเข้าไปยังกรุงย่างกุ้ง ทำให้สินค้ามีต้นทุนสูง
              6. ธนาคารพาณิชย์ในพม่าผูกขาดโดยรัฐบาล และฐานะของธนาคารไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตสูงกว่าความเป็นจริงมาก
              7. ปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ทำให้ไม่มีความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
              8. มีการปิดด่านการค้าชายแดนที่ติดต่อกับไทยบ่อย ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถขนส่งเข้าไปยังพม่าได้ต่อเนื่อง จึงเกิดการขาดแคลนสินค้าและเสียเปรียบสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ
              9. ขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ การคมนาคม การสื่อสาร

          แนวทางในการแก้ไขปัญหา   

              1. ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับพม่าให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง
              2. จัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า ไทย - พม่า ระดับรัฐมนตรี (Joint Trade Commission) อย่างต่อเนื่อง
              3.  ควรมีการประสานกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาจเข้าไปถือหุ้นในกิจการที่นักธุรกิจไทยไปดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อถือและความมั่นใจ
              4.  ควรกำหนดหน่วยงานระดับท้องถิ่นให้มีบทบาทที่จะรับผิดชอบดูแลการค้าชายแดนให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานสากล
              5.  ควรมีการประสานกันดำเนินการในการกำหนดเขตพื้นที่ทั้งภาคอุตสาหกรรม/เกษตรกรรมให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน
              6.  ควรมีหน่วยงานของรัฐบาลในการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่นักธุรกิจและนักลงทุนไทยในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับ JETRO ของญี่ปุ่น
              7. จัดงานแสดงสินค้าไทยในพม่า เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้ผู้บริโภคชาวพม่าได้รู้จักมากขึ้นพร้อมทั้งเชิญชวนชาวพม่าเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าในไทย   อาทิ  งานแสดงสินค้าอัญมณี ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีในภูมิภาค

-----------------------------------------------

                                                                              สำนักความร่วมมือการค้าและการลงทุน
กรมการค้าต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น