วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

“เวียนนา” ครองแชมป์เมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีสุดในโลก 4 ปีซ้อน

บรรยากาศส่วนหนึ่งในกรุงเวียนนาของออสเตรีย
       รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียถูกระบุว่า เป็นเมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในโลก สวนทางกับกรุงแบกแดด นครหลวงของอิรัก ที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ที่สุด ทั้งนี้เป็นข้อมูลจากผลการสำรวจล่าสุดของ “เมอร์เซอร์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและธุรกิจชั้นนำ
      
        ผลสำรวจระบุว่า กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรียซึ่งมีประชากรเพียง 1.7 ล้านคน ครองแชมป์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันในฐานะเมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดจากการมีระบบประกันสุขภาพดี ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่สูงมากนัก และความมีสีสันด้านวัฒนธรรมของเมือง
      
        เมอร์เซอร์ซึ่งทำการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลกเป็นประจำทุกปีระบุว่าทีมวิจัยของตนใช้ปัจจัยในการประเมินที่หลากหลายถึง 39 ประเภท เช่น ปัจจัยด้านความมีเสถียรภาพทางการเมือง ระบบประกันสุขภาพ คุณภาพการศึกษา อัตราการเกิดอาชญากรรม ความก้าวหน้าของระบบขนส่งมวลชน และความพร้อมของแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตด้านหนี้สินรุนแรง แต่เมืองในยุโรปกลับยังสามารถติดโผเมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดี โดยที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์มีเมืองติดใน 10 อันดับแรกถึงชาติละ 3 เมือง
      
        โดย 10 เมืองที่ถูกระบุว่า ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดของโลกประจำปี 2012 ประกอบด้วย กรุงเวียนนาของออสเตรีย,ซูริคของสวิตเซอร์แลนด์,ออคแลนด์ของนิวซีแลนด์, มิวนิคของเยอรมนี,แวนคูเวอร์ในแคนาดา,เมือง ดุสเซลดอร์ฟของเยอรมนี,นครแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนี,นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์, กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก และกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ
      
        ส่วน 10 เมืองที่ถูกจัดให้มีคุณภาพชีวิตของประชากรต่ำที่สุดในโลกประจำปีนี้ ประกอบด้วยกรุงแบกแดดเมืองหลวงของอิรัก,กรุงบังกี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง,กรุงปอร์โต แปรงซ์ของเฮติ, กรุงเอ็น ฌาเมนาของชาด, กรุงคาร์ทูมของซูดาน,กรุงซานา เมืองหลวงเยเมน,กรุงบราซซาวิลล์ของคองโก,กรุงทบิลิซีของจอร์เจีย, กรุงนูอักช็อตต์ของมอริตาเนีย และกรุงกินชาซาของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์ คองโก) ตามลำดับ
กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก
       

ที่ดินกทม.ราคาเพิ่มขึ้น4.4%แนวรถไฟฟ้าในเมืองพุ่งแพงสุด

ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครยังมีการเพิ่มขึ้นสวนกระแสอย่างน่าสนใจ โดยในรอบปี 2552-2553 ราคาเฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นถึง 4.4% สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ที่บริเวณสยามสแควร์ทั้งสองฝั่ง บริเวณติดสถานีรถไฟฟ้าชิดลม และสถานีเพลินจิต โดยทั้งหมดมีราคาไร่ละ 480 ล้านบาท หรือตารางวาละ 1.2 ล้านบาท

        นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุว่า ราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ติดกับรถไฟฟ้าทั้ง 3 สถานีคือ สยามสแควร์ ชิดลม และเพลินจิต แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรถไฟฟ้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สอย ประกอบกันบริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ศูนย์การค้า ซึ่งมีรายได้และอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการพัฒนาแบบอื่น จึงทำให้มีราคาสูง โดยราคาตารางวาละ 1.2 ล้านบาทนี้ ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 20%
            ราคาที่ดินที่แพงรองลงมาคือ ถนนสีลม ถนนราชดำริ โดยตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าของทั้งสองถนนนี้มีราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท หรือไร่ละ 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้เมื่อปีที่แล้วในราคาตารางวาละ 8.5 แสนบาท ทั้งนี้เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาในเชิงสำนักงาน หรือศูนย์การค้าในระดับหนึ่ง แต่มีความเข้มข้นและคึกคักน้อยกว่าบริเวณสยามสแควร์ ชิดลมและเพลินจิต
            พื้นที่ที่ราคาที่ดินรองลงมาก็คือบริเวณถนนวิทยุ ราคาตารางวาละ 9.5 แสนบาท หรือไร่ละ 380 ล้านบาท  ส่วนอีก 3 บริเวณที่ราคาตารางวาละ 9 แสนบาท หรือไร่ละ 360 ล้านบาทนั้นได้แก่ บริเวณสุขุมวิทช่วงต้น ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้านานาถึงสถานีรถไฟฟ้าอโศก-สุขุมวิท (สุขุมวิท 21)
            สำหรับราคาที่ดินที่ถูกที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในกรณีที่ดินขนาด 4 ไร่ ได้แก่ ที่ดินติดถนนถนนเลียบคลอง 13 ตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1.0 ล้านบาท  หรือที่ถนนวงแหวนรอบนอกแถวบางชัน ตารางวาละ 3,000 บาท หรือไร่ละ 1.2 ล้านบาท  แต่ถ้าเป็นที่ดินขนาด 36 ไร่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ราคาที่ดินติดถนนเลียบคลอง 13 ราคาตารางวาละ 1,100 บาท หรือไร่ละ 4.4 แสนบาทเท่านั้น
            หากเป็นในกรณีที่ดินที่ติดถนนซอย ก็ยังถูกกว่านี้อีก อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่เขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝั่งเหนือและฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งยังไม่มีโครงการสาธารณูปโภคเช่นทางด่วนหรือรถไฟฟ้าที่ชัดเจน ยังมีราคาค่อนข้างต่ำ
            ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในบริเวณที่เพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ บริเวณถนนพหลโยธินช่วงต้น ก่อนถึงสะพานควาย โดยราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 25%-29% โดยเฉพาะบริเวณรถไฟฟ้าซอยอารีย์ ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดจากตารางวาละ 3.5 แสนบาท เป็น 4.5 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% ส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในรอบ 1 ปีได้แก่ บริเวณรถไฟฟ้าทองหล่อ รถไฟฟ้าใต้ดินพระราม 9รถไฟฟ้าพหลโยธิน และที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 20% ในรอบ 1 ปีได้แก่ ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 สนามสแควร์ ถนนสุขุมวิทช่วงต้น และถนนสุขุมวิท 21
 
          อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลยังพบว่ามีที่ดินบางแห่งลดลงเล็กน้อย เช่น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บริเวณหนองจอก ราคาลดลงจากตารางวาละ 1.1 หมื่นบาท เหลือเพียง 1 หมื่นบาท  นอกนั้นบริเวณถนนประชาสำราญ ถนนราชอุทิศ กม.6 ถนนประชาร่วมใจ ถนนสุวินทวงศ์ กม.42
            บริเวณที่ราคาที่ดินไม่ขึ้นเลยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยังมีบริเวณถนนสุขุมวิท กม.46 บางบ่อ และบริเวณบางปู เป็นต้น รวมทั้งบริเวณถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว กม.16 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณเหล่านี้มีความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่มากนัก จะสังเกตได้จากบริเวณเหล่านี้ส่วนมากไม่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใดๆ เกิดขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2553 เลย
 
          โดยสรุปแล้ว ว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 4.4% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อนๆ ทั้งนี้คงเป็นเพราะการปรับฐานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการส่งออกของประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้โดยรวม
            สำหรับในปี 2554 คาดว่าราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นอีก แต่หากเปรียเทียบ ราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครยังถือว่าถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง รวมทั้งนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่าไทยด้วยมีประชากรมากกว่าไทย และขนาดที่ดินน้อยกว่ามาก และอยู่ในภาวะที่กำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ปรียา เทศนอก

"คุณจะได้บ้านแบบไหนในเมืองจีน หากมีเงินหนึ่งล้านหยวน "

วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติและการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน หรือเรียกย่อๆ ว่า"การประชุม 2 สภาของจีน"สิ้นสุดลง พร้อมกับการเสร็จสิ้นของการเลือกตั้งให้ "นายสี จิ้นผิง" เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ การแต่งตั้ง "นายหลี่ เค่อเฉียง" เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเลือกตั้งให้ "นายจาง เต๋อเจียง" เป็นประธานคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ตลอดจนการเลือกตั้งและแต่งตั้งผู้นำองค์กรอำนาจแห่งชาติและผู้นำสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชน ซึ่งเป็นการเสร็จสิ้นการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา
นโยบายการเงินก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เรียกความสนใจได้จากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางประกาศจะยังคงควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ราคาอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นประเด็นร้อนแรงอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในปัจจุบันมาก ราคาที่พักที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีทีท่าจะหยุดยั้งทำให้สร้างแรงกดดันและความเครียดให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก
หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงได้จัดอันดับอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง 25 อันดับแรกของจีน เรามาสำรวจไปพร้อมกันว่า "หากคุณมีเงินจำนวนหนึ่งล้านหยวน หรือ ประมาณห้าล้านบาท และมีสิทธิ์ซื้อบ้านได้ในเมืองจีน คุณจะได้บ้านแบบไหนในเมืองจีน"
แผนที่จีนและเมืองต่างๆ ที่ถูกจัดอันดับให้มีราคาที่ดินสูงที่สุด
อันดับที่ 1 เมืองเซินเจิ้น ราคาที่ดินอยู่ที่ 25,137 หยวนต่อตารางเมตร คุณจะได้คอนโดมีเนียมขนาด 40 ตารางเมตรเท่านั้นแต่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สำหรับเงินหนึ่งล้านหยวน
อันดับที่ 2 นครเซียงไฮ้ ราคาที่ดินอยู่ที่ 23,591 หยวนต่อตารางเมตร เงินหนึ่งล้านหยวนจะสามารถเป็นเจ้าของคอนโดมีเนียมขนาดเล็กกว่า 50 ตารางเมตร
อันดับที่ 3 กรุงปักกิ่ง ราคาที่ดินอยู่ที่ 22,767 หยวนต่อตารางเมตร คุณจะสามารถเป็นเจ้าของคอนโดมีเนียมขนาด 2 ห้องนอนแต่มีเนื้อที่น้อยกว่า 40-50 ตารางเมตร หรือคอนโดมีเนียมมือสองเท่านั้น สำหรับเงินหนึ่งล้านหยวน
อันดับที่ 4 เมืองหางโจว ราคาที่ดินอยู่ที่ 20,772 หยวนต่อตารางเมตร สำหรับที่นี่ คุณจะได้คอนโดมีเนียมขนาดสองห้องนอน แต่มีเนื้อที่ 40 ตารางเมตร
อันดับที่ 5 เมืองเวิ่นโจว ราคาที่ดินอยู่ที่ 16,115 หยวนต่อตารางเมตร บ้านมือสองขนาด 40-50 ตารางเมตรเท่านั้นสำหรับหนึ่งล้านหยวน หากอยากได้มือใหม่ต้องจ่ายแพงกว่านี้
อันดับที่ 6 เมืองกว่างโจว ราคาที่ดินอยู่ที่ 15,101 หยวนต่อตารางเมตร เมืองนี้มีหลายแบบให้เลือก หากคุณชอบอยู่ชานเมืองห่างไกลก็จะได้คอนโดมีเนียมขนาด 90 ตารางเมตร แต่หากชอบอยู่ในเมืองก็จะได้คอนโดมีเนียมขนาด 50 ตารางเมตรแทน
อันดับที่ 7 เมืองนานจิง ราคาที่ดินอยู่ที่ 12,026 หยวนต่อตารางเมตร เงินหนี่งล้านหยวนสามารถเป็นเจ้าของคอนโดมีเนียมขนาด 80-90 ตารางเมตรแต่สาธารณูปโภคยังไม่เพรียบพร้อม
อันดับที่ 8 เมืองจี่หนาน ราคาที่ดินอยู่ที่ 9,211 หยวนต่อตารางเมตร คุณมีสิทธิ์เป็นเจ้าของคอนโดมีเนียม
ขนาด 100 ตารางเมตรตามชานเมือง หากจะอยู่ในเมืองก็ต้องจ่ายสูงกว่าหนึ่งล้านหยวนแน่นอน
อันดับที่ 9 เมืองเฉิงตู ราคาที่ดินอยู่ที่ 8,064 หยวนต่อตารางเมตร สำหรับเมืองนี้ คุณสามารถเป็นเจ้าของคอนโดมีเนียมขนาด 140 ตารางเมตร
อันดับที่ 10 เมืองอู่ฮั่น ราคาที่ดินอยู่ที่ 7,233 หยวนต่อตารางเมตร หนึ่งล้านหยวนสามารถซื้อคอนโดมีเนียมขนาด 100 ตารางเมตรในกลางเมืองได้อย่างสบายๆ
บรรยากาศหน้าสำนักงานขายบ้านมือสองในเมืองต่างๆ อีกทางเลือกหนึ่งของชาวจีน
อันดับที่ 11 เมืองซีอาน ราคาที่ดินอยู่ที่ 7,107 หยวนต่อตารางเมตร ต้นเส้นทางสายไหมตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน สำหรับที่นี่ เงินหนึ่งล้านหยวนสามารถครอบครองคอนโดมีเนียมขนาด 120 ตารางเมตรใจกลางเมือง หรือได้บ้านขนาดกลางตามชานเมืองได้เลย
อันดับที่ 12 เมืองฉงชิ่ง ราคาที่ดินอยู่ที่ 6,661 หยวนต่อตารางเมตร ที่นี่มีให้เลือกหลายทางสำหรับเงินหนึ่งล้านหยวน ไม่ว่าจะเป็นบ้านขนาด 5 ชั้นพร้อมพื้นที่ตามชานเมือง คอนโดขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหรือบ้านมีพื้นที่ขนาดครึ่งไร่ตามชานเมืองก็ยังได้
อันดับที่ 13 เมืองเจิ้งโจว ราคาที่ดินอยู่ที่ 6,638 หยวนต่อตารางเมตร คุณสามารถซื้อคอนโดมีเนียมขนาด 150 ตารางเมตรในเมือง หรือบ้านวิลล่าหรูหราตามชานเมือง
อันดับที่ 14 เมืองหลานโจว ราคาที่ดินอยู่ที่ 6,218 หยวนต่อตารางเมตร หนึ่งล้านหยวนของที่นี่ คุณจะได้คอนโดมีเนียมขนาด 120 ตารางเมตรพร้อมเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งอย่างสวยงาม
การจัดอันดับราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้มีแค่ประเด็นเกี่ยวกับราคาเท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการพัฒนาระดับเมืองต่างๆ ในระยะต่างๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่ดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย และโปรดติดตามอันดับที่ 15-25 ได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมกับเหตุผลว่าทำไมถึงเป็น 25 เมืองนี้


สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

อนาคตตลาด อสังหาริมทรัพย์ไทย


ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจากที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมไม่ถึง 10,000 ยูนิตในปี 2531 มาเป็นมากกว่า 350,000 ยูนิตในปัจจุบัน  
ด้วยจำนวนอุปทานของคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดจะมีความซับซ้อนและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น  ตลาดในย่านใจกลางเมืองมีห้องชุดที่มีขนาดและรูปแบบที่หลากหลายและมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าในย่านรอบนอกใจกลางเมืองหรือมิดทาวน์
ทำเลชั้นดีในย่านใจกลางเมือง เช่น ย่านเพลินจิต ลุมพินี  ริมถนนสุขุมวิท และริมถนนใหญ่รอบ ๆ สวนลุมพินีจะมีโครงการฟรีโฮลด์
น้อยลงเพราะที่ดินฟรีโฮลด์ที่เหมาะแก่การนำมาพัฒนาโครงการมีจำกัด และไม่มีการเสนอขายในตลาด  นอกจากนี้ราคาที่ดินที่สูงเกินกว่า 1.5 ล้านบาทต่อตารางวาและมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก จะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม 
ซีบีอาร์อีคาดว่าตลาดในย่านใจกลางเมืองจะยังคงมีความแข็งแกร่ง เป็นลักษณะของตลาดที่มีจำนวนยูนิตน้อยแต่มีราคาต่อยูนิตสูง และจากนี้ไปจำนวนยูนิตที่เหลือขายจะค่อย ๆ หมดไป และจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ไม่มาก
ส่วนในทำเลใจกลางเมืองที่เป็นทำเลรองลงไปจะมีความยากในการพัฒนามากขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่ดินและค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ผู้พัฒนาโครงการจะต้องวิเคราะห์ตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าและไม่ตั้งราคาสินค้าสูงเกินกว่างบประมาณที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้
ส่วนตลาดในย่านรอบนอกใจกลางเมือง ซึ่งเป็นตลาดที่มีความท้าทายมากที่สุดในแง่ของอุปทานของคอนโดมิเนียม และมีอัตราส่วนห้องชุดขนาด 1 ห้องนอนและห้องแบบสตูดิโอมากที่สุด แต่ก็เป็นโอกาสในการซื้อเพียงทำเลเดียวที่ใกล้เมือง สำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้บริหารระดับกลางและพนักงานออฟฟิศ
ผู้พัฒนาโครงการสำหรับตลาดกลุ่มนี้ควรที่จะระมัดระวังและประเมินว่าทำเลใดบ้างที่มีความเป็นไปได้ที่ตลาดจะอิ่มตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่
สำหรับตลาดอาคารสำนักงาน ปัจจุบันถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากกว่าพื้นที่สำนักงานสิงคโปร์ถึง 25 เปอร์เซ็นต์และอาคารระดับเกรดเอมีการออกแบบและคุณภาพมาตรฐานระดับสากล
ตลาดอาคารสำนักงานกำลังเคลื่อนไปสู่ยุคที่มีความแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่กำลังจะกลับมาเป็นตลาดของผู้ประกอบการและยังเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีปริมาณอุปสงค์สูงกว่า 100,000 ตารางเมตรต่อปี และเป็นที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์ต่อปีจะสูงขึ้นต่อไปอีก  จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และธุรกิจบริการที่เติบโตมากขึ้นและรองรับอนาคตที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่จะเปิดประตูไปสู่ตลาดใหม่ ๆ ในภูมิภาค
ปัจจุบันราคาค่าเช่าพื้นที่สำนักงานมีอัตราสูงสุดอยู่ที่อาคารปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ ออน วิทยุซึ่งมีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ 980 บาทต่อตารางเมตรซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่าจุดสูงสุดในปี 1992 ที่อาคารดีทแฮล์มทาวเวอร์ เคยทำไว้ที่ 820 บาทต่อตารางเมตร คาดว่าค่าเช่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
แนวโน้มของตลาดสำนักงานในกรุงเทพฯ กำลังได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น ต่อไปจะไม่ได้เป็นตลาดที่มีย่านซีบีดี
เพียงอย่างเดียว แต่จะมีตลาดรองหรือเอสบีดี (Secondary Business Districts) เกิดใหม่อีกหลายแห่ง เช่น จากการขยายตัวของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนและค้าปลีกในโซนทิศเหนือของกรุงเทพฯ ทำให้ย่านรัชดากลายเป็นทางเลือกที่มีความโดดเด่นสำหรับการเป็นที่ตั้งสำนักงานเมื่อเปรียบเทียบกับย่านวิภาวดีซึ่งเป็นย่าน เอสบีดี ที่ได้รับความนิยมในช่วงก่อนที่จะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้า
ส่วนตลาดที่ดินและการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกงและสิงคโปร์ กรุงเทพฯ นับว่ายังล้าหลังในด้านธุรกรรมการซื้อขายอาคารเพื่อการลงทุน เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าและโรงแรม โดยมีการซื้อขายกันเพียง 1-2 อาคารต่อปีโดยเฉลี่ย 
ปัจจุบันการซื้อที่ดินในทำเลทองจะมีการแข่งขันอย่างสูง หากพิจารณาแผนผังแปลงที่ดินในทำเลชั้นนำของกรุงเทพฯ จะพบว่ามีที่ดินที่มีมูลค่าสูงขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาและที่ดินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานภาครัฐ เช่น มักกะสัน ที่ดินของการรถไฟ ท่าเรือ และโรงงานยาสูบ ซึ่งเป็นที่ดินในลักษณะของการเช่าระยะยาวทั้งสิ้น กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีระยะเวลาสูงสุดที่สามารถจดทะเบียนการเช่าได้แค่ 30 ปีเท่านั้น.
artical@dailynews.co.th

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประเทศใดรวยที่สุดในโลก?

วัดจากรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) 10 อันดับ คือ

1. ลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein) - $122,100
ธงชาติลิกเตนสไตน์ลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein) หรือชื่อทางการคือ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (Principality of Liechtenstein) (เยอรมัน: Fürstentum Liechtenstein) เป็นประเทศที่อยู่ในวงล้อมของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Doubly Landlocked Country) มีพื้นที่ขนาดเล็ก อยู่ทางตะวันตกของทวีปยุโรป มีพรมแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และด้านตะวันออกติดกับออสเตรีย ภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูง เป็นที่นิยมของนักเล่นกีฬาฤดูหนาว และยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่เก็บภาษีต่ำมากประเทศหนึ่งด้วย


2. กาตาร์ (Qatar) - $121,700

ธงชาติกาตาร์
ประเทศกาตาร์ หรือ รัฐกาตาร์ (State of Qatar) (อาหรับ: قطر) เป็นรัฐเจ้าผู้ครองนคร (emirate) ในตะวันออกกลาง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรขนาดเล็กที่แตกมาจากคาบสมุทรอาหรับ กาตาร์มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซีย และมีพรมแดนทางใต้ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย



3. ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) - $78,000

ธงชาติลักเซมเบิร์ก
ลักเซมเบิร์ก (Grand Duchy of Luxembourg) เป็นประเทศขนาดเล็ก ที่ไม่มีทางออกทะล อยู่ในทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของทวีปยุโรป มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศเยอรมนี ด้านใต้ติดกับฝรั่งเศส และด้านตะวันตกติดกับเบลเยียม มีเมืองหลวงชื่อลักเซมเบิร์ก




4. เบอร์มิวด้า (Bermuda) - $69,900

ธงชาติเบอร์มิวดา
เบอร์มิวดา เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาห่างจากรัฐนอร์ทแคโรไลนาไปทางตะวันออก 580 ไมล์ เบอร์มิวดาเป็นดินแดนโพ้นทะเลที่เก่าแก่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมีชาวอังกฤษมาตั้งรกรากก่อนการรวมตัวเป็นสหราชอาณาจักรถึงสองศตวรรษ โดยค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609)



5. นอร์เวย์ (Norway) - $58,600

ธงชาตินอร์เวย์
ประเทศนอร์เวย์ มีชื่อทางการว่าราชอาณาจักรนอร์เวย์ (นอร์เวย์: Kongeriket Norge หรือ Kongeriket Noreg) เป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ตั้งอยู่ในยุโรปเหนือ ส่วนตะวันตกของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย มีอาณาเขตจรดประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย และมีอาณาเขตทางทะเลจรดมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้กับประเทศเดนมาร์กและสหราชอาณาจักร นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวและเป็นที่ตั้งของฟยอร์ดที่มีชื่อเสียง





6. เจอร์ซี่ย์ (Jersey) - $57,000

ธงชาติเจอร์ซี่ย์










7. คูเวต (Kuwait) - $54,100

ธงชาติคูเวต
รัฐคูเวต (State of Kuwait) เป็นรัฐเจ้าผู้ครองนคร (emirate) ที่มีขนาดเล็กและมีน้ำมันอยู่มาก ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ริมชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย มีพรมแดนทางใต้ติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศอิรัก





8. สิงคโปร์ (Singapore) - $50,300

ธงชาติสิงคโปร์
สิงคโปร์ (อังกฤษ: Singapore) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (อังกฤษ: Republic of Singapore) เป็นนครรัฐที่ตั้งอยู่บนเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ละติจูด 1°17'35" เหนือ ลองจิจูด 103°51'20" ตะวันออก ตั้งอยู่ทางใต้สุดของคาบสมุทรมาเลย์ อยู่ทางใต้ของรัฐยะโฮร์ของประเทศมาเลเซีย และอยู่ทางเหนือของหมู่เกาะเรียวของประเทศอินโดนีเซีย




9. บรูไน (Brunei) - $50,100

ธงชาติบรูไน
บรูไน (Brunei) หรือ รัฐบรูไนดารุสซาลาม (State of Brunei Darussalam) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชายฝั่งทางด้านเหนือจรดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกที่เหลือจากนั้นถูกล้อมรอบด้วย รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย  บรูไนเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าหลัก




10. หมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) - $48,200



ธงชาติหมู่เกาะแฟโรหมู่เกาะแฟโร (Føroyar แปลว่า "เกาะแห่งแกะ) เป็นหมู่เกาะในทวีปยุโรป ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างสกอตแลนด์ นอร์เวย์ และไอซแลนด์ หมู่เกาะแฟโรเป็นเขตการปกครองตนเองขอเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 มีอำนาจในการปกครองตนเองทุกด้าน ยกเว้นด้านการต่างประเทศ และการทหาร








ที่มา: 1) CIA - The World Factbook ; 2) Wikipedia

ประเทศบรูไน เพื่อการลงทุน

       ไทยและบรูไนเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บรูไนได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากนั้นก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเรื่อยมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระดับพระราชวงศ์และระดับฝ่ายบริหาร
ประเทศบรูไน เป็นประเทศที่มีความมั่นคงสูง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 2 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) รายได้หลักของบรูไนมาจากการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผลิตได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้ บรูไนส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด รายได้จากการส่งออกน้ำมันดังกล่าว มีหน่วยงานที่เรียกว่า Brunei Investment Agency (BIA) นำไปลงทุนในต่างประเทศ หรือร่วมทุนกับต่างประเทศ ทั้งในรูปการถือหุ้น การซื้อพันธบัตรในประเทศต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้บรูไนมีดุลการค้าเกินดุลมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบรูไนตระหนักดีว่าพลังงานที่ตนครอบครองอยู่นั้นกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยมีการประกาศแผนพัฒนาในระยะยาวชื่อว่า วิสัยทัศน์บรูไน ปี 2578 (Wawasan 2035-Vision Brunei 2035) แผนพัฒนาฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าบรูไนเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น นอกจากภาคพลังงาน ไม่ต้องพึ่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลบรูไนเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลบรูไนมีความพยายามที่จะออกมาตรการต่าง ๆ กระตุ้นการลงทุนในภาคส่วนอื่น นอกจากภาคพลังงาน เพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยการให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่นักลงทุนต่างชาติ ดังเช่น การให้สิทธิพิเศษด้านภาษี บรูไนไม่มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วน ไม่มีเก็บภาษีส่งออก ภาษีขาย ภาษีการผลิต สำหรับภาษีนิติบุคคลนั้นยังมีการเรียกเก็บอยู่ แต่เป็นการเรียกเก็บจากนิติบุคคลที่เป็นบริษัทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี อัตราภาษีที่จัดเก็บก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สำหรับภาษีเงินได้ของบริษัทต่างชาติจะคำนวณภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดในบรูไนเท่านั้น ในอัตราร้อยละ 30 จากการที่ประเทศไทยและบรูไนต่างเป็นสมาชิกอาเซียน ในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มตัว ภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจะเหลือร้อยละ 0 เว้นแต่สินค้าประเภท Sensitive List ซึ่งสามารถเก็บภาษีได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งบรูไนมีสินค้าประเภท Sensitive List เพียงแค่ 2 รายการ ได้แก่ ชาและกาแฟ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ 100 ได้ในกิจการเกือบทุกสาขา สำหรับกิจการที่รัฐบาลบรูไนพยายามเน้นให้เกิดการพัฒนามากที่สุด ได้แก่ การเกษตรและการท่องเที่ยว อันเป็นกิจการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด แม้บรูไนเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์และระดับบริหาร แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศกลับมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ
รัฐบาลบรูไนพยายามที่จะเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว อันเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศก็เติบโตขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายกรัฐมนตรี
ระหว่างการเยือนบรูไนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นการใช้ “จุดแข็ง” ของแต่ละฝ่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น กรณีอุตสาหกรรมฮาลาล มีการทำข้อเสนอโครงการร่วมกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของแต่ละประเทศ บรูไนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ด้วยความที่ไทยมีผลิตผลทางการเกษตรมาก มีชื่อเสียงในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลก อีกทั้งยังมีแรงงานทั้งประเภทแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ
บรูไนขาดแคลนแรงงานจนต้องจ้างแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นช่วยถ่ายทอดความเชี่ยวชาญทางการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรต่าง ๆ รวมไปถึงการปศุสัตว์และการประมงด้วย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ



วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความเปลี่ยนแปลงของฐานประชากรในจีน

 จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก  คือมีถึงประมาณ 1,340 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2010 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็น 20% ของประชากรรวมทั่วทั้งโลกที่จะมีมากถึง 7,000 ล้านคนในปี 2011 นี้

        ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประชากรจีนได้มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและทางคุณภาพ

        ในปี 1951 อันเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการนำของเหมาเจ๋อตุง ได้สถาปนา”จีนใหม่”ขึ้นมาอย่างใหม่หมาดนั้น คนจีนมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 46 ปีเท่านั้น

        แต่พอพึงปีล่าๆ มานี้ หน่อเนื้อชาวมังกรได้มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 73 ปี

        แต่สิ่งที่“สวนทาง”กับตัวเลขข้างต้นก็คือ แนวโน้มของอัตราเจริญพันธุ์ของ“แม่จีน” ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง

        ในปี 1973 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายๆ ของยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ของจีน (อยู่ในช่วงระหว่างปี 1966 – 1976) นั้น แม่แต่ละคนของจีนให้กำเนิดลูกเฉลี่ยถึง 6 คน

        แต่พอถึงปี 1978  อันเป็นปีแรกๆ ที่จีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศ (Open-door policy) โดยการนำของเติ้งเสี่ยวผิงนั้น แม้แต่ละคนในแดนมังกรให้ลูกเฉลี่ยลดเหลือเพียง 2.6 คน

        หลังจากดำเนินโยบายเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการใช้กลไกตลาด (Market mechanism) เพิ่มมากขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1970’s เป็นต้นมา ทางการมังกรโดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The Chinese Communist Party – CPC) ก็ได้ดำเนินนโยบายให้แต่ละคู่สมรสมีลูกได้เพียงคนเดียว

        คู่สมรสที่สามารถมีลูกได้เกินกว่า 1 คนนั้นก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องมี “เงื่อนไข”ไม่ใช่น้อย

        ตัวอย่างเช่น การที่คู่สมรสที่ต่างเป็น“ลูกโทน”ทั้งคู่ อาจได้รับอนุญาตให้มีลูกสองคนได้  หรือคู่สมรสที่เป็นเกษตรกรที่จำเป็นต้องมีกำลังแรงงานช่วยทำงานในไร่นาของตนมากขึ้น ก็อาจได้รับการลดหย่อนได้มากขึ้น

        นโยบายการกำหนดให้คู่สมรสมีลูกได้เพียงคนเดียวดังกล่าว ได้ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ (โดยการถูกบังคับ) ของ“แม่จีน” ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980’s  แม่จีนแต่ละคนมีลูกเฉลี่ยระหว่าง 2.1-2.6 คน

        แต่พอผ่านเหตุการณ์ไม่สงบ“เทียนอันเหมิน”ที่เกิดขึ้นในกลางปี 1989  อัตราการมีลูกโดยเฉลี่ยของ“แม่”ชาวมังกร ก็ได้ลดต่ำลงไปอีก โดยมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.65 คนในปี 1991 และลดต่อไปเหลือ 1.52 คนในปี 1992 อันเป็นปีที่มีการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 14 ของจีน ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (Socialist market economy) และถือเป็น“ศักราชใหม่”ทางการพัฒนาของจีน ภายหลังจากผ่าน“บททดสอบ”บทแรกๆ ของการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ท่ามกลางความเชี่ยวกรากทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่แผ่นดินมังกรต้องฝ่าข้ามภายหลังเปิดประเทศ

        พอสรุปบทเรียนบทแรกๆเสร็จสรรพ ย่างก้าวใหม่ของการเปิด“ประตูถ้ำ”มังกรก็ถูกกำหนดออกมาโดย “CPC” ภายใต้การนำอยู่หลังฉากของอภิมหาบุรุษ“ร่างเล็ก” แต่ “เขื่องอักโข” ด้วยอำนาจนาม “เติ้งเสี่ยวผิง”  ตัวอย่างเช่น การนำแบบอย่างของความสำเร็จทางการพัฒนาในช่วงทศวรรษแรกๆ  เช่น นโยบายการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones – SEZ’s) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล (Coastal Areas Development Zones) ให้ขยายไปสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจให้กว้างขวางขึ้นในแดนมังกร โดยมีผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินและนายกรัฐมนตรีจูหรงจีเป็น“หัวหอกสำคัญ”

        ในช่วงทศวรรษที่ 2000’s อันเป็นช่วงภายหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้น (จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2001 เป็นต้นมา) อัตราการให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยของแม่แต่ละคนในแดนมังกร อยู่ในช่วงต่ำกว่า 2 คนตลอด และยืนอยู่ที่ 1.6 คน โดยเฉลี่ยในปัจจุบัน

        มีข้อที่น่าสังเกตว่าตัวเลขอัตราการเกิดของประชากรในจีนได้ลดลงตลอด  โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990’s  มังกรยังมีอัตราการเกิดสุทธิของประชากรอยู่ที่ 1.1% แล้วลดลงเหลือเพียง 0.6% ในช่วงทศวรรษต่อมา

        ตัวเลขดังกล่าว เป็นไปในทิศทางที่สวนทางกับอัตราการขยายตัวของ GDP จีน ที่มีการเติบโตเป็นตัวเลข“สองหลัก”เกือบตลอดทุกปี ในช่วงที่แดนมังกรมีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว 

        การลดลงของอัตราการเกิดดังกล่าว  แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในด้านที่ทำให้ประเทศไม่ต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูผู้คนใหม่ๆ  แต่ก็สร้างปัญหาตามาไม่ใช่น้อยเช่นกัน 

        ตัวอย่างเช่น   จีนจะมีประชากรในวัยเกษียณคืออายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 18 คนต่อคนในวัยทำงาน (Labor force) ซึ่งของจีนกำหนดไว้ที่อายุระหว่าง 15-59 ปีทุก ๆ 100 คน และเมื่อถึงปี 2050 หรืออีกประมาณ 4 ทศวรรษข้างหน้า แดนมังกรจะมีประชากรในวัยเกษียณถึง 60 คน ต่อคนในวัยทำงานทุกๆ 100 คน

        ดังนั้น ถ้าจีนเป็นประเทศที่ประชากร“แก่ก่อนรวย” ก็คงจะมีปัญหาตามมามากมายแน่นอน เพราะจะขาดแคลนทรัพยากรการเงินในการใช้“เลี้ยงดู” คนสูงอายุที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที
        ประชากรที่เกิดน้อยลง ยังสร้างปัญหาการลดลงของเด็กนักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาในแต่ละปี

        ในปี 1995 แดนมังกรมีเด็กนักเรียนเริ่มเข้าเรียนใหม่ในชั้นประถมต้นจำนวน 25.3 ล้านคน และตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงเหลือเพียง 16.7 ล้านคนในปี 2008 และเชื่อกันว่าในอีกประมาณทศวรรษข้างหน้า คนในวัย 20-24 ปีจะลดลงถึง 50%