วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

“คนอีสานครองแชมป์ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ”

การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การแพทย์ เป็นต้น หากมองในเชิงพื้นที่แล้ว ที่ใดมีความเจริญก้าวหน้า หรือได้รับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา มีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการทำงาน เป็นแรงดึงดูดให้คนย้ายถิ่นเข้าไปมากกว่าพื้นที่อื่น
กรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์รวมหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษามากมาย นอกจากนี้ยังเพียบพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชากรส่วนใหญ่ต้องการย้ายถิ่นเข้ามาพำนักพักอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพ ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543 ชี้ให้เห็นว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมีประมาณ 6.35 ล้านคน เป็นผู้ย้ายถิ่น 526,373 คน
หากพิจารณาอัตราการย้ายถิ่นเข้า และอัตราการย้ายถิ่นออกเป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมีอัตราการย้ายถิ่นเข้าและอัตราการย้ายถิ่นออกค่อนข้างสูง โดยอัตราการย้ายถิ่นเข้าน้อยกว่าภาคกลางเล็กน้อย คือ 82.6 ต่อพันคนในกรุงเทพ และ 85.3 ต่อพันคนในภาคกลาง นั่นหมายความว่า ประชากรกรุงเทพ 1,000 คนจะเป็นคนย้ายถิ่นเข้าประมาณ 83 คน
        สำหรับอัตราการย้ายถิ่นออก พบว่า ทุกภาคมีอัตราไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นกรุงเทพ ที่อัตราการย้ายถิ่นออกสูงถึง 64.1 ต่อพันคน นั่นก็หมายความว่า ประชากรกรุงเทพทุก 1,000 คน เป็นคนย้ายถิ่นออกประมาณ 64 คน สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพมีอัตราการย้ายถิ่นออกสูงกว่าภาคอื่นๆ อาจเป็นเพราะว่า ประชากรที่อาศัยในกรุงเทพอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพโดยกำเนิด อาจจะเข้ามาเพื่อหางานทำและอาศัยอยู่แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น หรือเข้ามาเพื่อเรียนหนังสือ หลังจากนั้นก็ย้ายกลับภูมิลำเนาของตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัตราการย้ายถิ่นออกของกรุงเทพสูงกว่าภาคอื่น

ตาราง อัตราการย้ายถิ่นเข้า อัตราการย้ายถิ่นออก และอัตราการย้ายถิ่นสุทธิของประชากรในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543
ภาค
อัตราการย้ายถิ่นเข้า
อัตราการย้ายถิ่นออก
อัตราการย้ายถิ่นสุทธิ
  กทม.
82.6
64.1
18.5

  ภาคกลาง
85.3
39.7
45.6

  ภาคเหนือ
29.7
32.4
-2.7

  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
20.1
35.5
-15.4

  ภาคใต้
40.2
31.5
8.7


ที่มา: สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543
เมื่อจำแนกผู้ย้ายถิ่นในกรุงเทพ ตามภาคที่อยู่ก่อนย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ พบว่า ในปี 2533 และ 2543 ผู้ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีสัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากปี 2533 คิดเป็นร้อยละ 45.1 ลดลงเหลือร้อยละ 37.7 ในปี 2543 สำหรับผู้ย้ายถิ่นที่มาจากภาคกลาง ภาคเหนือ และต่างประเทศ มีสัดส่วนระหว่างปี 2533 และ 2543 ไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นผู้ย้ายถิ่นที่มาจากภาคใต้ที่มีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า คือจากร้อยละ 9.7 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2543
ความต้องการเข้ามาหางานทำเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนย้ายเข้ากรุงเทพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของคนย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ ที่คาดว่าจะสามารถเข้ามาหางานทำ สร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และจุนเจือครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล พบว่า สัดส่วนของผู้ย้ายถิ่นที่ให้เหตุผลของการย้ายถิ่นว่าเพื่อหางานทำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการกระจายการพัฒนา และความเจริญก้าวหน้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดงาน และรายได้ ทำให้ประชากรไม่ต้องย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพเพื่อไปหางานทำ ส่วนสาเหตุของการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพในลำดับรองลงมา คือ การย้ายติดตามบุคคลในครอบครัว ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันทั้งในปี 2533 และ 2543 และการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษา และหน้าที่การงาน ตามลำดับ
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นที่สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการย้ายถิ่นเข้ามายังกรุงเทพ กลุ่มคนที่ย้ายเข้า รวมทั้งสาเหตุของการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพที่ได้จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ และเนื่องจากในเดือนกันยายน 2553 ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ภายหลังจากการจัดทำสำมะโนฯ เสร็จสิ้นแล้วคอยดูกันต่อไปว่าปริมาณการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพ กลุ่มคนที่ย้ายเข้า รวมทั้งสาเหตุการย้ายถิ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
สุดท้ายนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์ว่าระหว่างวันที่ 1 - 30 กันยายน 2553 นี้ จะมีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมฉลองครบรอบ 100 ปี สำมะโนประชากรประเทศไทย และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำสำมะโนครั้งนี้ โดยการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการวางแผน บริหารจัดการ และพัฒนาประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น