วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กรุงเทพมหานคร: เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย

ความเป็นเอกนครหรือความเป็นเมืองโตเดี่ยวคืออะไร?
          ความเป็นเมืองเอกนคร (Primate City) หมายถึง การที่เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมีจำนวนหรือขนาดของประชากรมากกว่าเมืองอันดับรองอย่างมาก ความเป็นเอกนครจึงได้รับการเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองโตเดี่ยว ตามลักษณะความเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อย่างมาก มากจนมีขนาดใหญ่ห่างจากเมืองที่ใหญ่รองลงมาอย่างลิบลับ เป็นการเติบโตแต่เพียงเมืองเดียวล้ำหน้าเมืองอื่นๆ ดังนั้น ขนาดของความเป็นเอกนคร (Degree of Primacy) จึงวัดด้วยการคำนวณว่า เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมีขนาดใหญ่กว่าเมืองใหญ่อันดับสองประมาณกี่เท่าตัว การวัดขนาดของความเป็นเอกนครเป็นวิธีการวัดความเป็นเมืองวิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธี เราสามารถวัดความเป็นเมืองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เช่น วัดจากระดับความเป็นเมือง หรือวัดจากความเป็นเอกนครที่มีการคำนวณหาที่สลับซับซ้อนมากกว่า 
ความเป็นเมืองโตเดี่ยวหรือความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานคร 
          กรุงเทพมหานครมักได้รับการกล่าวถึงความเป็นเมืองที่มีความเป็นเอกนครสูงสุดเมืองหนึ่งของโลก Sternstein (1986) เคยกล่าวถึงความเป็นเมืองเอกนครของกรุงเทพมหานครว่า เป็น “a paragon - the beau ideal - of a primate city” ซึ่งมีความหมายว่า ความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานครมีความเด่นมากที่สุดเมืองหนึ่ง เป็นความโดดเด่นที่เป็นแบบอย่างของความเป็นเอกนครเลยทีเดียว
ทำไมความเป็นเอกนครของกรุงเทพมหานครจึงมีความโดดเด่นมากที่สุด ถ้าเราศึกษาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน พบว่า ไม่มีเมืองใดในประเทศไทยเลยที่มีประชากรเกินล้านคน ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีประชากรล้านคนมาตั้งแต่ปี 2490 (ภัสสร ลิมานนท์ 2525) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความโตเดี่ยวอย่างมากของกรุงเทพมหานคร สำหรับสถิติของความเป็นเมืองเอกนคร Goldstein (1971) พบว่า ในปี 2490 ประชากรของกรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรมากกว่าประชากรของเมืองเชียงใหม่ที่มีประชากรมากเป็นอันดับรองลงมา ถึง 21 เท่า ในปี 2503 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 27 เท่า ของเมืองเชียงใหม่เมืองใหญ่อันดับสอง และ ในปี 2510 เพิ่มเป็น 32 เท่า ของเมืองเชียงใหม่อีกเช่นกัน หรือในปีที่ค่อนข้างปัจจุบัน เช่น ในปี 2541 กรุงเทพมหานครที่มีประชากร 5.6 ล้านคน มีขนาดใหญ่กว่าเมืองนนทบุรีเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศที่มีประชากร 2 แสนกว่าคนถึง 28 เท่า (ปราโมทย์ ประสาทกุล 2543)
          สำหรับในปี 2549 จากข้อมูลของสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 กรุงเทพมหานครมีประชากร 5,695,956 คน มีขนาดใหญ่กว่าเทศบาลนครนนทบุรีที่ยังคงครองความเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ และมีประชากรอาศัยอยู่ 266,788 คน คิดเป็น 21 เท่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขในปี 2549 นี้จะต่ำกว่าตัวเลขในปี 2541 เหตุผลส่วนหนึ่งน่ามาจากมีการเปลี่ยนการให้คำจำกัดความของความเป็นเมืองที่ให้มีการรวมเขตสุขาภิบาล เมื่อปี 2542 ทำให้ข้อมูลปี 2549 มีจำนวนประชากรเมืองในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นตามคำจำกัดความใหม่ ในขณะที่ข้อมูลปี 2541 ยังใช้จำนวนประชากรตามคำจำกัดความเดิมที่ยังไม่รวมเขตสุขาภิบาลว่าเป็นประชากรเมือง นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งน่ามาจากการที่กรุงเทพมหานครมีการเพิ่มของประชากรที่ช้าลงกว่าพื้นที่อื่นโดยเฉพาะถ้าเทียบกับจังหวัดในปริมณฑล ทำให้ความเป็นเมืองเอกนครของกรุงเทพมหานครลดลง ซึ่งแนวโน้มความเป็นเมืองโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครที่ลดลงนี้ อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐที่ต้องการลดการเติบโตของกรุงเทพมหานคร ด้วยการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดในปริมณฑล (Pakkasem 1988)
          ผลจากนโยบายกระจายการพัฒนาไปยังเขตจังหวัดปริมณฑล อันได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ทำให้แผนพัฒนาเมืองในระยะเวลาต่อมาได้รวมกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเป็นพื้นที่เป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า Bangkok Metropolitan Region หรือเรียกสั้นๆ ว่า BMR ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปเมื่อมีการวิเคราะห์ถึงการเติบโตของกรุงเทพมหานครในเชิงพื้นที่ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า หากพิจารณาถึงความเป็นเมืองโตเดี่ยวโดยมีการรวมเขตพื้นที่เมืองของจังหวัดปริมณฑลกับกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่เมืองที่ติดกัน ก็จะเห็นถึงความโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครส่วนที่เป็น BMR ที่สูงมาก เพราะถ้ารวมเขตพื้นที่ที่เป็นเมืองของจังหวัดปริมณฑลที่อยู่ติดกับกรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน (1,219,900 คน) กับประชากรของกรุงเทพมหานคร ทำให้กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (BMR) มีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 6.9 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีประชากร 0.15 ล้านคน (150,021 คน) และเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง (เพราะเมืองใน 5 จังหวัดปริมณฑลถูกรวมกับกรุงเทพมหานครแล้ว) ถึง 46 เท่า หรือหากคิดจากจำนวนประชากรที่เป็นจริงที่มากกว่าตัวเลขตามทะเบียนราษฎรที่มีการตกหล่นจำนวนคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียน ก็อาจจะถึง 50 เท่า (ดูบทที่ 1 ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ. “ระเบิดคนเมือง” ในประเทศไทย)
          จากภาพทั้งหมด ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กรุงเทพมหานครยังคงดำรงความเป็นเอกนคร เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวที่ทิ้งห่างเมืองอื่นๆ ดังที่ขวัญสรวง อติโพธิ (นิตยสารสารคดี 2533) เคยกล่าวไว้ว่า “ทิ้งห่างจนเกินงาม” มาตลอด และเมื่อมีการขยายอาณาเขตพื้นที่ไปยังปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ความโตเดี่ยวของกรุงเทพมหานครยังคงทิ้งห่างเมืองอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไปอีกนาน 
จำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร 
          มีความไม่แน่นอนของตัวเลขจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครอยู่มาก ตัวเลขจากแหล่งต่างๆ จะแตกต่างกัน โดยมี 2 แหล่งข้อมูลใหญ่ๆ ที่มักถูกใช้อ้างอิงถึงจำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร คือ สำมะโนประชากรและเคหะ และทะเบียนราษฎร ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เก็บรวบรวมจากข้อมูลประชากรที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร ซึ่งพบว่าทั้งสองแหล่งข้อมูลมีตัวเลขที่ต่ำกว่าที่เป็นจริงอยู่มาก อันเป็นผลเนื่องมาจากการตกการแจงนับของสำมะโนประชากรและเคหะ และการไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดอีกครั้งเมื่อถึงส่วนที่เขียนถึงจำนวนประชากรที่เป็นจริงของกรุงเทพมหานคร
          จำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร ตามสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 พบว่า มีประชากร 6.35 ล้านคน จากตัวเลขในตาราง 1 แม้จำนวนประชากรของกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการสำมะโนประชากรและเคหะ แต่อัตราการเพิ่มจะลดลงในทุกครั้งของการสำมะโน
          อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบประชากร กรุงเทพมหานครที่ได้จากการสำมะโนประชากรและเคหะ กับ ตัวเลขจากทะเบียนราษฎร พบว่า มีจำนวนที่ต่างกัน เช่น ในปี 2543 ประชากรกรุงเทพมหานครตามตัวเลขของสำนักทะเบียนกลางมีจำนวน 5,680,380 คน (ดูตาราง ผ1 ในภาคผนวก) น้อยกว่าตัวเลขจากการสำมะโนประชากรและเคหะ ที่มีจำนวน 6,355,144 คน โดยต่างกันเกือบ 7 แสนคน ซึ่งข้อมูลจากสำมะโนประชากรน่าจะใกล้เคียงตัวเลขจริงมากกว่า เพราะเป็นการแจงนับประชากรตามที่อยู่จริง ขณะที่จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากมีประชากรจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนอาศัยอยู่ 
ตาราง 1 จำนวนประชากรกรุงเทพฯ อัตราการเพิ่มต่อปี สัดส่วนประชากรกรุงเทพฯต่อประชากรทั้งประเทศ และสัดส่วนประชากรกรุงเทพฯต่อประชากรเมืองทั้งประเทศ ตามปีสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2503-2543
หมายเหตุ: * จำนวนประชากรกรุงเทพฯ ปี 2503 และ 2513 เป็นการรวมประชากรของจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งขณะนั้นแยกเป็นคนละจังหวัด และได้รวมกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” เมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2514 และเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2515
          ** สิ่งที่ควรระวังในการพิจารณาสัดส่วนต่อประชากรเมืองทั้งประเทศ คือ การเปลี่ยนแปลงคำจำกัด ความของเมือง ที่ทำให้ประชากรเมืองเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สัดส่วนประชากรกรุงเทพฯ ต่อประชากรเมืองทั้งประเทศลดน้อยลง
ที่มา: คำนวณจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2503ก, 2503ข, 2513ก, 2513ข, 2523, 2533, และ 2543ก
แล้วประชากรกรุงเทพมหานครจริงๆ มีจำนวนเท่าไรกันแน่?
          ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ (2548) เคยวิเคราะห์ว่า ในปี พ.ศ. 2548 ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครน่าจะมีจำนวนถึง 7.6 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนประชากรจากทะเบียนราษฎร อันเป็นผลจากการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากต้องการหาจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากตัวเลขของทะเบียนราษฎร จำเป็นต้องพิจารณาถึงตัวเลขการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านของผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งในปี พ.ศ. 2535 พบว่า มีผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร โดยชื่อจะยังคงอยู่ในทะเบียนบ้านที่จังหวัดอื่น (ซึ่งอาจเป็นจังหวัดบ้านเกิด) ถึงร้อยละ 31 (Chamratrithirong et al. 1995) และต่อมาการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนอาศัยอยู่ของคนกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 (ดูบทที่ 1 ปราโมทย์ ประสาทกุล และคณะ. “ระเบิดคนเมือง” ในประเทศไทย) ดังนั้นเมื่อคำนวณตัวเลขของผู้ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร กับสัดส่วนของการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 พบว่า ในปี 2549 กรุงเทพมหานครที่มีประชากรในทะเบียนราษฎร 5,695,956 คน จะเป็นผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ จำนวนถึง 2,278,382 คน ทำให้กรุงเทพมหานครมีประชากรที่รวมกันแล้วได้ประมาณ 7,974,338 คน ผลจากการคำนวณการไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนี้ ทำให้ภาพคร่าวๆ ของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครได้ว่า น่าจะมีถึง 8 ล้านคน
          นอกจากนี้ มักมีการกล่าวเสมอๆ ว่าจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ในเวลากลางวันนั้นไม่เท่ากับจำนวนประชากรในเวลากลางคืน เพราะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ผู้ย้ายถิ่นรายวันหรือผู้ที่เดินทางไป-กลับในวันเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Commuter ในภาษาอังกฤษ คนเหล่านี้มักมีที่อยู่อาศัยอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร แต่มีสถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้มักจะอยู่ในจังหวัดปริมณฑล ที่ราคาของบ้านพักอาศัยถูกกว่าในกรุงเทพฯ และใช้เวลาในการเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครไม่มากนัก หรืออาจอาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของคนกลุ่มนี้ แต่ มีข้อมูลจากการสำรวจ ในปี 2533 พบว่า ในจังหวัดนนทบุรีมีประชากรร้อยละ 23 ที่กำลังเรียนหนังสือต้องเดินทางไปเรียนหนังสือในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 19 ของประชากรที่กำลังทำงานเดินทางไปทำงานในกรุงเทพมหานครทุกวัน (นิตยสารสารคดี 2533) ข้อมูลนี้แม้จะค่อนข้างเก่าแต่ก็ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่คนในจังหวัดนนทบุรีเพียงจังหวัดเดียวยังมีคนเดินทางไปกลับเข้ากรุงเทพฯ มากเท่านี้ ดังนั้น ในเวลากลางวันจึงน่าจะมีคนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของไทยมากกว่า 8 ล้านคน แน่นอน ซึ่งอาจจะมีถึง 10 ล้านคนทีเดียว 
ปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานคร

          ในการวิเคราะห์ถึงการเพิ่มขึ้นของประขากรเมือง Goldstein (1972) ได้สรุปว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองเป็นผลจากปัจจัยหลักๆ 4 ปัจจัย คือ 1) จากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ อันเกิดจากผลต่างของจำนวนการเกิดและการตาย 2) จากการย้ายถิ่นสุทธิ อันเกิดจากผลต่างของจำนวนการย้ายถิ่นเข้าและการย้ายถิ่นออก 3) จากการเปลี่ยนแปลงของขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมืองที่มีการขยายออกไป และ 4) การกำหนดเขตเมืองใหม่ เช่นมีการให้คำจำกัดความของคำว่าเมืองใหม่ เป็นต้น สำหรับการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพฯ เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ การเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ การย้ายถิ่นสุทธิ และการเปลี่ยนแปลงของขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมืองที่มีการขยายออกไป
          ในตาราง 1 ชี้ให้เห็นว่า ประชากรกรุงเทพมหานครมีการเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นช้าลง การเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ในอดีต โดยเฉพาะในช่วง กลางศตวรรษที่19 และต้นศตวรรษที่ 20 Sternstein (1982) คาดว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครน่ามาจากผู้อพยพคนจีน ที่ส่วนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้ามาเพื่อทำงานรับจ้างภาคเกษตร และเป็นกรรมกรในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และส่วนหนึ่งหนีภัยจากการสู้รบภายในประเทศ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2548) แต่ในช่วงเวลาต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2483-2493 (1930-1950) นั้น เป็นผลจากการเพิ่มตามธรรมชาติ ที่เกิดจากการตายที่ลดลงมากกว่า (Sternstein 1982) และการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ.2498-2503 โดยทั้ง Goldstein (1972) ที่ใช้ข้อมูลสำมะโนประชากร ปี 2503 ในการวิเคราะห์ และ Sternstein (1982) ที่ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร และข้อมูลสถิติการตายในการวิเคราะห์ต่างก็ได้ผลตรงกันว่า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ แม้แต่ในช่วงเวลาหลังๆ เช่น ระหว่าง ปี พ.ศ. 2523-2533 ที่ จินตนา เพชรานนท์ และคณะ (Pejaranonda et al. 1995) ได้ใช้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะปี 2533 ในการวิเคราะห์ ก็ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติยังเป็นปัจจัยหลัก โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานคร เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติร้อยละ 62 และเป็นผลจากการย้ายถิ่นสุทธิร้อยละ 38 ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากจำนวนหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังมีอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลจาก สำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 ที่พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรของกรุงเทพมหานครน้อยกว่าผู้ที่ไม่ย้ายถิ่น (Tangchonlatip 2005) อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นจะเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ (Pejaranonda et al. 1995) 
ตาราง 2 จำนวนประชากรย้ายถิ่นเข้าสุทธิ (Net Migration Gain) ของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2498-2543
ที่มา: ปรับจาก ตาราง 3.1 ใน Sassangkarn and Chalamwong (1994)
          จากตาราง 2 จะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรที่กรุงเทพมหานครได้รับจากการย้ายถิ่นเข้าสุทธิ จะเพิ่มขึ้นมากในช่วง ระหว่างปี พ. ศ. 2518-2523 ที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (Exported-oriented Industrialization) และมีจำนวนสูงสุดในระหว่างปี พ. ศ. 2528-2533 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตรวดเร็วมาก หรือที่รู้จักกันว่าเป็นช่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่นั่นเอง (2535-2540) แต่จำนวนก็ได้ลดลงในช่วงเวลาต่อมา คือ ช่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (2540-2543) ที่ส่งผลทำให้มีการย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครน้อยลง ขณะเดียวกันก็มีการย้ายถิ่นออกมากขึ้น เพราะการปิดตัวของธุรกิจต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการต้องออกจากงาน หรือได้รับรายได้ลดลง ทำให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิเข้ามาในกรุงเทพมหานครลดน้อยลง แต่ก็พบว่า ยังมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว
          ในขณะเดียวกัน การย้ายถิ่นได้เริ่มเบนทิศทางจากเข้ากรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดปริมณฑลมากขึ้น และมากกว่าเข้ามาในกรุงเทพมหานครเสียอีก (ดูตาราง ผ2 ในภาคผนวก) ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการพัฒนาที่เริ่มมีกระจายไปยังเขตปริมณฑลมากขึ้น และส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกรุงเทพมหานคร มีประชากรอยู่หนาแน่นมากจนมีการย้ายออกไปอยู่ในจังหวัดข้างเคียงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขก็ได้ชี้ให้เห็นว่า จำนวนผู้ย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานครไม่ได้ลดลงมากนัก นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครเองก็ยังมีประชากรแฝงที่ไม่ได้ถูกแจงนับ และมีผู้ย้ายถิ่นแบบไป-กลับ ที่ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นผู้ย้ายถิ่นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ผู้ย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานครจึงยังมีจำนวนมากอยู่
          จึงอาจสรุปได้ว่า การย้ายถิ่นยังคงมีบทบาทสำคัญต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของกรุงเทพมหานคร แม้จะมีการกระจายการย้ายถิ่นไปยังปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงก็ตาม 
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพมหานครมากกว่าพื้นที่อื่น

          นอกจาก เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมากเป็นแรงดึงดูด และสภาวะเศรษฐกิจของภาคชนบทที่รายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ที่ทำให้มีการอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานครของคนชนบทจากภาคต่าง ๆ จำนวนมากแล้ว ความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครในทุก ๆ ด้านก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญเช่นกัน
          หากดูถึงแผนการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่าแผนพัฒนาตั้งแต่ฉบับที่ 1 - 3 (2504-2519) ได้เน้นการสร้างระบบสาธารณูปโภคในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ไม่ว่าเป็นระบบไฟฟ้า ประปา การคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งสถานการศึกษา การสาธารณสุข (Pakkasem 1988) อีกทั้งยังสนับสนุนการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตสินค้าส่งออกในกรุงเทพฯ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 4 - 6 (2520-2534) แม้ยังมีการสร้างระบบสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแผนการพัฒนาที่มีการกระจายไปสู่จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง เช่น พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก และไปทางภาคตะวันออก โดยมีการริเริ่มโครงการ Eastern Sea Board ขึ้นในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (2525-2529) นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการกระจายการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็น NICs ทำให้แผนพัฒนาฉบับที่ 6 (2530-2534) ที่แม้มีความพยายามกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคอื่น แต่ก็มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของประเทศ (Pakkasem 1988) ทำให้กรุงเทพมหานครยังคงเติบโตและเป็นแหล่งดึงดูดผู้ย้ายถิ่น ต่อมาในแผนพัฒนาฉบับที่ 7 (2535-2539) ได้มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในเขตจังหวัดปริมณฑลมากขึ้น และเริ่มมีการขยายการสร้างไปยังพื้นที่จังหวัดในภาคกลางอื่นๆ และไปยังภาคตะวันออกด้วย
          การพัฒนาที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากแผนพัฒนาที่เน้นกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ได้เป็นการช่วยเร่งการเติบโตของกรุงเทพมหานครให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีสถาบันการเงิน ธุรกิจใหญ่ ๆ อีกทั้งเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญแล้ว กรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประเทศ ที่ดูเหมือนว่าถนนหลักทุกสาย รถไฟเกือบทุกขบวน เรือขนส่งแทบทุกลำจะมีเป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทางที่ไม่ว่าใครจะไปไหนไปที่ใด เหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตกก็ต้องเดินทางผ่านกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์กลางด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ อาทิเช่น ด้านการศึกษาที่มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียง มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่หากมีโอกาสได้เข้าเรียนแล้วจะช่วยทำให้สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน หรือความเป็นศูนย์กลางทางสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์ และบุคลากรที่มีความสามารถทำงานอยู่มากมาย สำหรับด้านศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครมีสถานที่สำคัญที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พระบรมมหาราชวัง วังอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัว วัดและสถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย อีกทั้งเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญตามประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ
          ความเป็นกรุงเทพมหานครที่เป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองที่เป็นศูนย์กลางของประเทศในทุก ๆ ด้าน ย่อมมีส่วนดึงดูดทั้งทรัพยากรการลงทุนต่าง ๆ และผู้คนจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครไม่ว่าเป็นด้วยเหตุผลใด จึงมีจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศอย่างเด่นชัด
          ณ เวลาปัจจุบัน แม้มีเมืองอื่น ๆ ได้รับแบ่งปันประโยชน์จากนโยบายกระจายการพัฒนาของรัฐ ซึ่งได้ส่งผลทำให้ความเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครลดน้อยลงบ้างแล้ว แต่ก็ดูเหมือนกรุงเทพมหานครยังมีการเติบโตด้านจำนวนประชากรอยู่ แม้ว่าเป็นการเติบโตที่ช้าลงก็ตาม
อนาคตของกรุงเทพมหานครในอนาคตประชากรกรุงเทพมหานครจะมีจำนวนเท่าไร? 
          มีการคาดประมาณจำนวนประชากรกรุงเทพมหานคร จากนักวิชาการหลายท่าน พบว่ามีความแตกต่างของตัวเลขตามฐานข้อมูลที่ใช้ในการคาดประมาณ และวิธีการที่ใช้ เช่น ตัวเลขจากการฉายภาพประชากรที่ทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2546) พบว่า กรุงเทพมหานครมีการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ไม่มากนัก และอัตราการเพิ่มก็จะค่อย ๆ ลดลง โดยในปี พ. ศ. 2548 ประชากรกรุงเทพมหานครมีจำนวน 6.8 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2553 เพิ่มเป็น 7.27 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558 และเพิ่มเป็น 7.34 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่ไม่มากเลย
          หากดูตัวเลขการคาดประมาณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในตาราง 3 จะพบว่าจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครมีมากกว่าการฉายภาพข้างต้น แต่ก็ไม่มากนัก โดยปี พ.ศ. 2553 มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 7.9 ล้านคน มีความต่างกันเพียง 8 แสนคน อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะต่างกัน แต่ผลจากการคาดประมาณของทั้งสองแหล่งข้อมูล ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มประชากรกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ๆ ซึ่งสาเหตุหลัก คือ การย้ายถิ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มลดน้อยลง (ดูตาราง ผ2 ในภาคผนวก) ประกอบกับอัตราเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรในกรุงเทพมหานคร ก็เริ่มต่ำลงมากด้วย เช่น ในสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีภาวะเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.5 ซึ่งหมายความว่า ผู้หญิงที่เคยสมรสอายุ 15-49 ปี 1 คน จะมีจำนวนบุตรเกิดรอดโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 คน ขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์รวมในระดับประเทศเท่ากับ 1.7 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2543ก) ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเพิ่มที่ช้าลงของจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร 
ตาราง 3 จำนวนประชากร และอัตราเพิ่มประชากร จำแนกตามพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล ปี พ.ศ. 2543-2553 (ค่าคาดประมาณ)
ที่มา: ปรับจากตาราง 9.3 ใน Krongkaew (1996)
คนกรุงเทพมหานครเพิ่มน้อยลง

          หัวข้อข้างต้นอาจฟังแล้วงง แต่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ประชากรที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการเพิ่มที่ค่อย ๆลดลง ในขณะที่ประชากรที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดปริมณฑล มีอัตราการเพิ่มประชากรที่มีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน แต่ก็ยังมากกว่าอัตราการเพิ่มของกรุงเทพมหานคร (ดูตาราง ผ3 ในภาคผนวก)
          ในตาราง 3 จากการคาดประมาณจำนวนประชากรของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นได้ว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร แม้จำนวนประชากรกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรได้ลดลง ดังตัวเลขในตาราง 3 ที่ลดลงจากร้อยละ 1.4 เหลือเพียง 1.0 ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2543 - 2553 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของประชากรกรุงเทพมหานครจะค่อย ๆ ช้าลง ในขณะที่ความเป็นเมืองหรือสัดส่วนของประชากรเมืองต่อประชากรทั้งหมดใน 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 66 ในปี พ.ศ. 2543 เป็นร้อยละ 76 ในปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงอัตราการเพิ่มของประชากรเมืองของปริมณฑล แม้อัตราการเพิ่มจะสูงกว่ากรุงเทพมหานครมาก แต่ก็มีแนวโน้มในทางเดียวกันกับกรุงเทพมหานคร คือ มีอัตราการเพิ่มที่ลดลง คือ จากร้อยละ 4.4 ในปี พ.ศ. 2543 และค่อย ๆ ลดลงจนเหลือเพียง 3.4 ในปี พ.ศ. 2553          ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีอัตราการเพิ่มของประชากรที่มีแนวโน้มลดลง โดยกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มลดลงมากกว่าจังหวัดปริมณฑล ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มาจากจำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพมหานครน้อยลงน่าจะเป็นเพราะ ณ ปัจจุบันแทบไม่มีความแตกต่างของความเจริญระหว่างเขตเมืองที่เป็นกรุงเทพมหานคร กับบริเวณพื้นที่รอยต่อ หรือส่วนที่เป็นเมืองของจังหวัดปริมณฑลกับกรุงเทพมหานครเลย ผู้ที่อาศัยอยู่ในปริมณฑลสามารถได้รับสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ทั้งอาชีพการงาน ความสะดวกสบาย ที่อยู่อาศัย แหล่งบันเทิงและสันทนาการ นอกจากนี้การเดินทางเข้ามายังตัวกรุงเทพมหานครเองก็มีระบบคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่สามารถมีชีวิตเหมือนอยู่ในเมืองหลวงทุกอย่าง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น