วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ภาษีผลได้จากทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา


18 พฤศจิกายน 2012
ภาวิน ศิริประภานุกูล
ผลได้จากทุน (Capital Gains) หมายถึง กำไรที่เกิดขึ้นจากผลต่างของราคาขายสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ ที่สูงกว่าราคาต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากนายแดงได้ซื้อหุ้น ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ราคา 200 บาท จำนวน 1,000 หุ้น และขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมดในราคา 350 บาท นายแดงจะมีผลได้จากทุนที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจำนวน (350–200) 1,000 = 150,000 บาท โดยที่นายแดงอาจต้องจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทหลักทรัพย์และภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณบนฐานค่าบริการของบริษัทหลักทรัพย์อีกจำนวนเล็กน้อย
ในปัจจุบัน ผลได้จากทุนที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ลักษณะนี้ของนายแดงจะไม่ถูกนับรวมเข้าเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ประการใดครับ ซึ่งมีความแตกต่างจากเงินได้ที่เกิดจากการชิงโชคลักษณะอื่นๆ ที่ผู้ได้รับเงินได้จากการชิงโชคดังกล่าวจะต้องนับรวมเข้าไปเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจของผลได้จากทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลได้จากทุนในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย อยู่ที่การได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยที่ผลได้จากทุนดังกล่าวน่าจะถือได้ว่าเป็นเงินได้ของคนไทยอีกประเภทหนึ่ง โดยเงินได้ลักษณะนี้น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกันกับเงินได้จากการชิงโชค ซึ่งผู้ได้รับเงินได้ไม่ต้องเสียกำลังแรงกายมากมายนักเพื่อให้ได้รับเงินได้ลักษณะนี้มาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผลได้จากทุน มีเหตุผลหลักเพื่อพัฒนาตลาดหุ้นของไทยให้เกิดการเข้ามาลงทุนและระดมทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อาจมองได้ว่าการยกเว้นภาษีผลได้จากทุนดังกล่าวอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับระบบภาษีไทยได้ครับ
ในบทความนี้ ผมจะนำเอางานศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศมาเล่าให้ฟัง
โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2456 (ค.ศ. 1913) โดยในช่วงเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนอัตราและเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนอยู่บ้าง แต่ไม่เคยมีช่วงเวลาใดเลยที่สหรัฐอเมริกาจะยกเว้นการเก็บภาษีผลได้จากทุนดังกล่าว
งานศึกษาของ Friedman and Richards (2006) ได้แสดงให้เห็นว่า การปรับลดอัตราภาษีผลได้จากทุนและอัตราภาษีเงินปันผลลงในปี 2546 (ค.ศ. 2003) สร้างประโยชน์ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้สูงของประเทศในระดับที่สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ เป็นอันมาก
โดยถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีส่วนร่วมในการลงทุนในตลาดหุ้นในปัจจุบัน แต่ราวร้อยละ 40 ของการลงทุนดังกล่าวกระทำผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีผลได้จากทุนและภาษีเงินปันผลอยู่แล้ว ในขณะที่กว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศลงทุนในหุ้นโดยไม่ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่มูลค่าการลงทุนคิดเป็นราวร้อยละ 70 ของเงินลงทุนในหุ้นทั้งหมดที่มีภาระภาษีผลได้จากทุนและภาษีเงินปันผล การถือครองหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆ ในสัดส่วนที่สูงของกลุ่มผู้มีรายได้สูง ได้ส่งผลให้ผลตอบแทนในรูปแบบผลได้จากทุนส่วนใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก
ภาพที่ 1 แสดงสัดส่วนของผู้รับประโยชน์ผลได้จากทุนทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2554 จากข้อมูลในภาพดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผลได้จากทุนในสัดส่วนร้อยละ 47 ตกเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 0.1 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ ในขณะที่ผลได้จากทุนอีกราวร้อยละ 47 ตกเป็นของกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 19.9 เปอร์เซ็นต์รองลงมา ในขณะที่กลุ่ม 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ได้รับประโยชน์จากผลได้จากทุนรวมกันเพียงราวร้อยละ 6 ของผลได้จากทุนทั้งหมด
ภาพที่ 1
ภาพที่ 1 ที่มา: Huang and Marr (2012)
ผลประโยชน์ในรูปผลได้จากทุนจำนวนมากที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงได้รับ ส่งผลให้เมื่อนำผลได้จากทุนดังกล่าว คิดรวมกับรายได้จากเงินปันผลแล้ว มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของกลุ่มประชากรเหล่านั้น
ภาพที่ 2 แสดงข้อมูลสัดส่วนรายได้ของกลุ่มประชากรจำแนกตามระดับรายได้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาจากผลได้จากทุนและเงินปันผล ในปี 2546 จะเห็นได้ว่า กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงจะยิ่งมีสัดส่วนรายได้จากผลได้จากทุนและเงินปันผลในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าหากมีการปรับลดอัตราภาษีผลได้จากทุนหรืออัตราภาษีเงินปันผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีการยกเว้นภาษีผลได้จากทุน จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงได้รับประโยชน์ในระดับสูงกว่าผู้คนในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า
ภาพที่ 2
ภาพที่ 2 ที่มา: Friedman and Richards (2006)
จากข้อมูลในภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ในช่วง 50,000–75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากผลได้จากทุนและเงินปันผลในระดับราว 2–3 เปอร์เซ็นต์เพียงเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญ มีส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากผลได้จากทุนและเงินปันผลสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่มีการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนและภาษีเงินปันผลในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการปรับลดอัตราภาษีผลได้จากทุนและอัตราภาษีเงินปันผลลงเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในปี 2554 ก็อาจส่งผลให้อัตราภาษีที่ต้องจ่ายจริงของกลุ่มคนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านเหรียญ บางคนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราภาษีที่จ่ายจริงของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าได้
อัตราภาษีที่จ่ายจริงของผู้คนในแต่ละกลุ่ม สามารถคำนวณได้จากเม็ดเงินที่คนแต่ละกลุ่มจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล หารด้วยมูลค่ารายได้ทั้งหมดของกลุ่ม โดยอัตราดังกล่าวมักถูกเรียกกันทั่วไปในวงวิชาการว่า อัตราภาษีแท้จริง (Effective Tax Rate)
ภาพที่ 3 แสดงอัตราภาษีแท้จริงเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มคนอเมริกันทั้งหมดที่มีรายได้ในช่วง 50,000–75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี กับ 2) กลุ่มคนอเมริกาบางส่วนที่มีรายได้สูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยที่มีส่วนแบ่งรายได้จากผลได้จากทุนและเงินปันผลในสัดส่วนที่สูง จากภาพดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในปี 2554 กลุ่มคนที่มีรายได้ในช่วง 50,000–75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี กลับต้องเสียภาษีในอัตรา 14.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราภาษีที่จ่ายโดยคนในกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บางส่วนเสียอีก
ภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ที่มา: Huang and Marr (2012)
การปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนและอัตราภาษีเงินปันผลของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไม่มีลักษณะการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า
นั่นคือ ผู้ที่มีรายได้สูงกว่าไม่ได้ถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งทำลายความสามารถในการทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของระบบภาษีลง และที่สำคัญคือ รายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มคนรายได้ต่ำมักมีที่มาจากเงินเดือนหรือค่าจ้างทำงานซึ่งได้มาด้วยความยากลำบาก ในขณะที่รายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีที่มาจากผลได้จากทุนและเงินปันผลในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก การจัดเก็บภาษีกับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าในอัตราที่สูงกว่าสามารถกล่าวได้ว่าสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาได้
หลักความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอีกลักษณะหนึ่ง คือ การจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีใกล้เคียงกันด้วยอัตราที่เท่ากัน การปรับลดหรือละเว้นการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนและภาษีเงินปันผล อาจทำลายหลักความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ลงได้
ภาพที่ 4 แสดงอัตราภาษีแท้จริงที่จัดเก็บกับกลุ่มคนอเมริกันที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน คือ มีรายได้อยู่ในช่วง 1–2 แสนเหรียญต่อปี แต่มีส่วนแบ่งรายได้จากผลได้จากทุนและเงินปันผลในสัดส่วนที่แตกต่างกัน
ภาพที่ 4
ภาพที่ 4 ที่มา: Huang and Marr (2012)
จากภาพที่ 4 จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อปีใกล้เคียงกันจ่ายภาษีในอัตราที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มที่มีส่วนแบ่งรายได้จากผลได้จากทุนและเงินปันผลในระดับต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เสียภาษีอัตราแท้จริงในระดับราว 18–19 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มที่มีส่วนแบ่งรายได้จากผลได้จากทุนและเงินปันผลสูงกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ เสียภาษีในอัตราต่ำกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มแรกเพียงเท่านั้น ความไม่เป็นธรรมทางภาษีในลักษณะนี้อาจส่งผลให้เกิดความพยายามในการหลีกเลี่ยงภาษีขึ้นมาได้
จะเห็นได้ชัดเจนครับว่า การปรับลดอัตราภาษีผลได้จากทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยในระดับสูงกว่ากลุ่มคนจนเป็นอย่างมาก
อาจเป็นได้ครับว่า กรณีของประเทศไทยนั้นจะมีความใกล้เคียงกับกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสินทรัพย์ของประเทศมีการกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนรวยกลุ่มเล็กๆ เป็นอย่างมาก ในตอนหน้า ผมจะลองนำเอาข้อมูลการถือครองสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ของคนไทยเท่าที่ผมมีมานำเสนอให้ดูเป็นหลักฐานอีกทีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น