วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Pamukkale & Hierapolis อุทยานมรดกโลก


Pamukkale & Hierapolis อุทยานมรดกโลก
น่าจะเป็นเพราะจำนวนมนุษย์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบกลมนี้มีมากขึ้นทุกปี ประกอบกับมีวิวัฒนาการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวยขึ้น มนุษย์จึงออกเดินทางท่องเที่ยวค้นโลกกันเป็นว่าเล่น ว่ากันว่าอีกไม่เกิน 20 ปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะทำเงินเป็นอันดับหนึ่ง นำหน้าอุตสาหกรรมทั้งหมดทุกประเภทของโลกอย่างไม่เห็นฝุ่น คำทำนายนี้ไม่น่าจะเกินจริงนัก เพราะดูจากข่าวความคืบหน้าของบริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ที่ต่างก็ทุ่มการวิจัยลงไปกับการทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างเครื่องบินให้ลำใหญ่ขึ้น เพื่อจุจำนวนผู้โดยสารให้ได้มากขึ้นตามความต้องการของการเดินทางของมวลมนุษยชาติที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ ๆ...ทุกปี
 ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่สถานที่ท่องเที่ยวกลับมีจำนวนคงที่ และจะว่าไปแล้วถือว่าลดลงด้วยซ้ำ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งปัจจุบันถูกใช้จนบอบช้ำ บางแห่งต้องเปิด-ปิดเป็นช่วงๆ เพื่อให้ธรรมชาติได้มีเวลาพักและรักษาสภาพแวดล้อมของตัวเอง อย่างเช่นในประเทศไทยกำลังจะมีมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรารถนาเข้าไปเที่ยวชมตามอุทยานแห่งชาติในแต่ละปีอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น มิใช่ปล่อยให้เข้าไปเต็มที่ตามต้องการเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติเอาไว้ เหมือนเช่นที่กำลังจะพาผู้อ่านไปชมน้ำตกหินปูนสีขาวที่ถือเป็นความอัศจรรย์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลก แต่กำลังถูกคลื่นมนุษย์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่ทำลายลงอย่างน่าอนาจ หากไม่ได้รับการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมชาติอันพิสุทธิ์ชิ้นนี้ของโลกก็คงจะย่อยยับไป และเผลอๆ อาจไม่มีวันบำบัดให้ดีเหมือนเดิมได้อีกเลย
 สถานที่ที่ผมจะพาผู้อ่านไปเที่ยวแห่งนี้อยู่ในประเทศตุรกีครับ ดินแดนแห่งสองทวีปที่มีทั้งธรรมชาติและผู้คนที่แปลกแตกต่างไปจากภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของโลกมากมาย โดยเฉพาะธรรมชาติที่ผมเห็นว่าที่นี่มีความแปลกพิสดารและไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก คือเรียกว่าในโลกนี้มีอยู่น้อยมากนั่นเอง สถานที่แห่งนี้ก็คือ ปามุกคาเล (Pamukkale) หรือปราสาทปุยฝ้าย
ในภาษาตุรกี ปามุก แปลว่า ฝ้าย, คาเล แปลว่า ปราสาท เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเมื่อหินปูนสีขาวสะอาดหรือแคลเซียมออกไซด์ถูกธารน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำแร่ไหลเออล้นขึ้นมาบนผิวดิน และไหลรวมกันจนเป็นลานใหญ่ กว้างประมาณ 300 เมตร ยาวกว่า 3 กิโลเมตร ก่อนจะไหลตกลงจากหน้าผาสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 100 เมตร
การไหลของน้ำแร่ที่ปามุกคาเลนี้ได้ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ ราวกับน้ำตกที่ทำด้วยวิปครีม อันเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนที่ทำปฏิกิริยากับอากาศ และจับตัวแข็งกลายเป็นแอ่งน้ำตื้นๆ มีน้ำล้นใสราวกับตาตั๊กแตน ในวันที่อากาศดีจะสะท้อนกับท้องฟ้าสีครามสดใสงามตายิ่งนัก ใครเห็นก็อยากลงไปนอนแช่ เพราะน้ำที่ขังอยู่ก็คือน้ำแร่อุ่นๆ นั่นเอง แถมบางแอ่งน้ำยังอยู่ในมุมสูง มองเห็นพื้นราบเบื้องล่างที่อยู่ต่ำลงไปลิบ...สุขอย่างบอกใครเชียวครับ ซึ่งความสุขแบบที่รู้สึกกันอย่างนี้แหละที่เป็นตัวฆ่าปามุกคาเล เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เฮโลไปใช้ไปหาความสุขกันอย่างไม่ปรานีต่อธรรมชาตินั้น นานวันเข้าหินปูนสีขาวราวกับปุยฝ้ายก็กลายเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ไปจนถึงสีสนิม น้ำแร่ใสๆ ที่เคยเอ่อล้นพลันก็เหือดแห้ง จะมีออกมาบ้างก็เฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นที่แอ่งน้ำมีน้ำมากขึ้น ถ้ามาในช่วงฤดูร้อนจะพบว่าแอ่งน้ำเดี๋ยวนี้น้ำแห้งเกือบถาวรแล้ว ซึ่งคนที่เคยไปเห็นปามุกคาเลเมื่อราว 20 ปีที่แล้วแล้วติดใจ ปีนี้ไปอีกเพื่อรำลึกถึงความหลัง มักผิดหวังไปตามๆ กัน และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่ามารำลึกความหลังกันเลย สู้ปล่อยให้ปามุกคาเล่เป็นอดีตอันสวยงามอยู่ในความทรงจำเสียยังดีกว่า เพราะภาพปามุกคาเลปัจจุบันผิดจากปามุกคาเลในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ ความทรงจำดีๆ และงดงามถูกทำลายไปสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ดี ในบริเวณพื้นที่ที่ติดกับน้ำตกหินปูนปามุกคาเล ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่งที่พอจะช่วยเยียวยาความผิดหวังของคนที่โหยหาอดีตอันเรืองรองและไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง หรือถ้าจะเปลี่ยนก็ขอให้เปลี่ยนไปในแนวบวก เราเดินไปเที่ยวที่นั่นกันดีกว่า
เฮียราโปลิส (Hierapolis) เป็นโบราณสถานที่ว่าครับ สถานที่อันเต็มเปี่ยมไปด้วยอดีตแห่งนี้ก่อตั้งโดยกษัตริย์ยูเมเนสที่ 2 (Eumenes II) แห่งแพร์กามุม ชื่อนี้โด่งดังมากในสมัยโบราณประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สืบเนื่องมาจากพบว่าบริเวณนี้มีน้ำแร่ศักดิ์สิทธิ์ไหลอยู่ทั้งปีด้วยอุณหภูมิราว 33-35 องศาเซลเซียส ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคได้สารพัด โดยเฉพาะโรคไขข้ออักเสบ จึงถูกใช้เป็นสถานที่บำบัดโรค ผู้คนเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ว่าเป็นแหล่งรักษาโรคก็เดินทางมาใช้ จนต่อมาได้พัฒนาชุมชนเล็กๆ ให้กลายเป็นเมืองย่อมๆ ขึ้นมา นักประวัติศาสตร์ได้ทำการขุดและพบหลักฐานว่าที่นี่มีเมืองชื่อไฮเดรลา (Hydrela) ซึ่งถ้าแปลตามตัวอักษรก็หมายถึงเมืองแห่งสายน้ำ และสันนิษฐานกันว่าเมืองไฮเดรลานั้นที่แท้ก็คือเมืองเฮียราโปลิสนั่นเอง ส่วนชื่อของเมืองเฮียราโปลิส นักประวัติศาสตร์มีความเชื่อแตกออกเป็น 2 กระแส ทางหนึ่งเชื่อว่ามาจากชื่อของสตรีผู้หนึ่งที่มีบทบาทสูงในยุคนั้น ส่วนอีกกระแสเชื่อว่ามาจากรากศัพท์ที่แปลว่า เมืองศักดิ์สิทธิ์อันแสนสุข คือ Hiera และ Holy
 เนื่องจากเมืองเฮียราโปลิสในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องความงามของหินอ่อน และได้รับอิทธิพลจากทั้งกรีกและโรมันโบราณที่ผลัดกันเข้ามาครอบครอง ซึ่งได้ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย โดยเฉพาะวิหารและหลุมศพโบราณที่ทำด้วยหินล้วนๆ
ชาวโลกในอดีตใช้บริเวณนี้เป็นที่พักพิงติดต่อกันมานานเกือบ 1,500 ปีก็เสื่อมความนิยม เหตุเพราะได้เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งและการรุกรานของพวกเติร์ก จนหลังปี ค.ศ. 1334 ผู้คนอพยพหนีหายไปอยู่ที่อื่นกันหมด ไม่มีคนกล้าอาศัยอยู่ที่นี่อีก บ้านเรือนในยุคนั้นจึงเหลือเป็นเพียงซากปรักหักพังอยู่เกลื่อนทุ่งไปทั่ว ทั้งกำแพงเมือง โรงอาบน้ำโรมัน วิหารอะพอลโล โรงละคร และซากหลุมศพ รวมทั้งโบสถ์สมัยไบเซนไทน์
 การมาเที่ยวชมปามุกคาเลและเมืองโบราณเฮียราโปลิสจึงควรให้เวลานานสักหน่อย เพราะทั้งสองแห่งมีความสวยงามทางธรรมชาติและคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในภูมิภาคอื่นของโลก และคงด้วยความคิดเช่นนี้กระมังที่ทำให้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากไปในที่สุด อันเป็นผลให้มีนักลงทุนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขอสัมปทานจากรัฐบาลตุรกี สร้างรีสอร์ตและสปาให้อยู่ใกล้กับปามุกคาเลและซากโบราณสถานมากที่สุด นัยว่าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแบบสุดๆ ให้กับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักทั้งหลาย
โรงแรมที่ว่านี้ชื่อ “โรงแรมปามุกคาเล” ไฮไลต์ของโรงแรมฯ คือการนำบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในอดีตมาดัดแปลงเป็นสระว่ายน้ำที่เป็นน้ำแร่ธรรมชาติกลางแจ้งขนาดใหญ่ ใต้น้ำใสปิ๊งยังคงทิ้งเสาโรมันของแท้ที่หักพังระเกะระกะไว้ให้ตื่นตาตื่นใจเล่น ยามจินตนาการว่ากำลังว่ายน้ำอยู่ในยุคก่อนคริสตกาล หรือย้อนหลังไปเป็นพันๆ ปี
 นอกจากจะมีโรงแรมบนยอดปามุกคาเลแล้ว ยังมีการลงทุนสร้างรีสอร์ตและสปาผุดขึ้นอีกมากมายรอบๆ เชิงเขาบริเวณใกล้กับฐานของปามุกคาเล แต่ละรีสอร์ตและสปาต่างก็พยายามสูบสายน้ำแร่เข้าไปใช้ในรีสอร์ตโดยตรงเพื่อให้แขกที่เข้าพักประทับใจ แต่ผลที่ตามมาคือ ธารน้ำแร่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้เหือดแห้งไปในบางช่วงเวลา ประกอบกับไม่มีการจำกัดเขตให้นักท่องเที่ยวเดินชมแอ่งน้ำที่เป็นหินปูนสีขาวบริสุทธิ์ ทำให้เกิดความสกปรกที่มาพร้อมกับจำนวนคนมากมายจนเกินความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ เนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องของการรักษาโรคแท้ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนตั้งใจไปถอดรองเท้าเดินย่ำน้ำ บางคนถึงกับถอดเสื้อผ้าลงไปนอนแช่ในน้ำแร่อุ่นๆ อย่างสบายใจ เมื่อทำแบบนี้มากๆ เข้าก็ทำให้แอ่งน้ำหินปูนที่เคยเป็นสีฟ้าใสแจ๋วเหือดแห้งลง และมีคราบของความสกปรกเป็นตะไคร่จับตามพื้นและขอบบ่อ บางแห่งกลายจากสีขาวเป็นสีสนิม เพราะเกิดจากคราบไคลของไขมันในร่างกายของนักท่องเที่ยวนั่นเอง
เหตุการณ์อันน่าตระหนกนี้ทำให้รัฐบาลตุรกีและองค์กรยูเนสโกได้เข้ามาจัดระเบียบการทำธุรกิจท่องเที่ยวบริเวณนี้เสียใหม่ก่อนที่ความอัศจรรย์ทางธรรมชาติและโบราณสถานจะพังพินาศไป รัฐบาลตุรกีสั่งปิดถนนเส้นที่ตัดขึ้นไปส่งนักท่องเที่ยวจนเกือบจะชิดกับแอ่งน้ำเลยทีเดียว และห้ามรถบัสใหญ่จอดใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวด้วย ถ้านักท่องเที่ยวต้องการเข้าไปชมต้องใช้วิธีเดินเข้าไปอย่างเดียวด้วยระยะทางราว 1,500 เมตรบนเส้นทางที่กำหนด และสั่งย้ายโรงแรมปามุกคาเลออกไปจากพื้นที่ทันที ซึ่งกว่ารัฐบาลตุรกีจะจัดการย้ายโรงแรมเจ้าปัญหานี้ออกไปได้ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว เพราะติดในแง่ของกฎหมายการลงทุนของเอกชน และมาตรการสุดท้ายคือการกำหนดเขตให้นักท่องเที่ยวเดินลุยน้ำแร่อุ่นๆ เล่นในแอ่งหินปูนอย่างมีขอบเขตแน่นอน ไม่ปล่อยเสรีเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องกวดขันนักท่องเที่ยวที่ชอบฝ่าฝืน ซึ่งก็ยังมีให้เห็นเป็นพักๆ ทั้งๆ ที่มีประกาศขอความร่วมมือเอาไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ลมหายใจของปราสาทปุยฝ้ายได้มีชีวิตต่อ และค่อยๆ ฟื้นเอาความสวยงามดังเดิมกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาร่วม 100 ปีทีเดียว...
 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น