วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หอดูดาวอาเรซีโบ

หอดูดาวอาเรซีโบ (อังกฤษ: Arecibo Observatory) เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองอาเรซีโบทางตอนเหนือของเปอร์โตริโก ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ร่วมกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation, NSF) ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้หน่วยงานที่ชื่อว่า "ศูนย์ดาราศาสตร์และชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์แห่งชาติ" (National Astronomy and Ionosphere Center, NAIC)
กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่นี่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ยาว 305 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์เดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นมาโครงการก่อสร้างเริ่มต้นนำเสนอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โดยศาสตราจารย์ วิลเลียมส์ อี. กอร์ดอน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ เพื่อที่จะใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ของโลก แต่ได้ขยายขอบเขตของโครงการออกไป การก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 หอดูดาวแห่งนี้ได้ส่งสัญญาณวิทยุขนาด 1,679 บิต (ประมาณ 205 ไบต์) ที่มีชื่อว่า "ข้อความอาเรซีโบ" ขึ้นสู่อวกาศไปยังกระจุกดาวเอ็ม 13 ที่อยู่ห่างจากโลก 25,000 ปีแสงเป็นข้อมูลกราฟิกขนาด 23 คูณ 73 จุด ซึ่งออกแบบโดย ดร. แฟรงก์ เดรก และคาร์ล เซแกน สื่อความหมายถึงระบบตัวเลข ธาตุเคมี ดีเอ็นเอ และระบบสุริยะ เป็นสัญลักษณ์ของก้าวสู่ยุคอวกาศของโลก และคาดหวังว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลกได้รับสัญญาณนี้และส่งสัญญาณตอบมาในอนาคต
หอดูดาวแห่งนี้มีการปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์มาตลอดอายุการใช้งาน ครั้งสำคัญคือเมื่อ พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2540 และใช้เป็นแหล่งข้อมูลของโครงการ SETI@home ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
กล้องโทรทรรศน์วิทยุอาเรซีโบเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง Goldeneye (ชื่อไทย: พยัคฆ์ร้าย 007 รหัสลับทลายโลก) ออกฉายใน พ.ศ. 2538 และเรื่อง Contact (ชื่อไทย: อุบัติการณ์สัมผัสห้วงเวลา) ออกฉายใน พ.ศ. 2540 และเป็นฉากหลังในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง 2010: Odyssey Two (ชื่อไทย: 2010 จอมจักรวาล) ของอาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก (แต่ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2525 ได้เปลี่ยนสถานที่เป็นเวรีลาร์จอาร์เรย์แทน)
เครื่องรับสัญญาณ

 

 

 

 

อ้างอิง

  1. ^ Frederic Castel (2000-05-08). "Arecibo: Celestial Eavesdropper". Space.com. http://www.space.com/scienceastronomy/astronomy/arecibo_profile_000508.html. เรียกข้อมูลเมื่อ 2008-09-02. 
  2. ^ "Description of Engineering of Arecibo Observatory". Acevedo, Tony (June 2004). http://www.naic.edu/public/descrip_eng.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-05-05.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น