วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปรากฏการณ์การละลาย ของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นบนเกาะกรีนแลนด์

ปรากฏการณ์การละลาย ของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นบนเกาะกรีนแลนด์ และในมหาสมุทรแอนตาร์กติกนั้น นำมาสู่คำถามเกี่ยวกับสาเหตุของการละลายดังกล่าว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า เป็นผลจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นปกติในฤดูร้อนเท่านั้น 
 
การละลายของน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตั้งอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ใครหลาย เพราะในระยะเวลาเพียง 4 วัน คือวันที่ 8 - 12 กรกฎาคม น้ำแข็งกว่าร้อยละ 97 ละลายหายไปหมด จากเดิมที่มีการละลายเพียงแค่ร้อยละ 40 ในช่วงฤดูร้อน แต่ในครั้งนี้ กลับละลายมากถึงร้อยละ 97 สร้างความกังวลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศเป็นจำนวนมาก
 
หลังจากนั้นได้เพียงแค่หนึ่งวัน เว็บไซต์รัสเซีย ทูเดย์จากประเทศรัสเซีย ก็นำเสนอข่าวการละลายของแผ่นน้ำแข็งทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอนตาร์กติก ที่ทำให้เกิดรอยแตกลึกที่สุดที่มีชื่อว่า Ferrigno Rift มีความลึกกว่า 1.5 กิโลเมตร กว้างกว่า 10 กิโลเมตร และน่าจะมีความยาวต่ำที่สุดอยู่ที่ 100 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้เปรียบเทียบโพรงที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งในครั้งนี้ ว่าเป็นเหมือนกับหุบเหวแกรนด์ แคนยอนของสหรัฐฯเลยทีเดียว
 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น นำมาสู่คำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการละลายของน้ำแข็งในครั้งนี้กันแน่ เพราะในขณะนี้ ความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน กับอีกส่วนหนึ่งที่มองว่า เกิดขึ้นจากคลื่นความร้อน ที่แผ่มาปกคลุมในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และหลังจากผ่านพ้นช่วงฤกูร้อนไปแล้ว น้ำแข็งที่ละลายไปนั้นก็จะกลับมาแข็งตัวเหมือนเดิม
 
ลอร่า โคนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งของนาซา เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 4 วันนั้น อาจเป็นการละลายตามปกติ ที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 150 ปี ก็เป็นได้ โดยเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2432 ดังนั้น เธอจึงไม่มั่นใจว่า ภาวะโลกร้อน มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการละลายในครั้งนี้หรือไม่
 
ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ โรบินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจากสถาบันพอทส์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ก็ออกมาเรียกร้องให้มีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าสภาวะโลกร้อนมีผลโดยตรงต่อการละลายของน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์หรือไม่ เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีการสำรวจก่อนหน้านี้นั้น พบว่าแม่น้ำสายใหญ่บนเกาะกรีนแลนด์ได้เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณริมชายฝั่งในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกี่ยวข้องกับการละลายของแผ่นน้ำแข็งหรือไม่
 
โดยโรบินสันยืนยันว่า หากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนจริงๆ ก็จะทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการละลายของน้ำแข็งที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลนั้น อีกไม่นานก็ธารน้ำแข็งจะกลับมาแข็งตัวได้ใหม่ เพราะการละลายดังกล่าวเป็นแค่การละลายแค่บริเวณพื้นผิวของน้ำแข็งเท่านั้น
 
แต่หากว่าการละลายในครั้งนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ก็จะทำให้เกิดการละลายอย่างต่อเนื่องจากพื้นผิวลงไปสู่ชั้นน้ำแข็งที่ลึกกว่า ทำให้เป็นการยาก ที่จะกลับมาแข็งตัวได้ใหม่อีกครั้งในอนาคต ซึ่งจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์นั้นพบว่า หากธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายหายไปทั้งหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลก เพิ่มสูงขึ้นถึง 7 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์จะละลายไปทั้งหมดนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานมาก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน
27 กรกฎาคม 2555 เวลา 19:58 น.
View 956




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น