วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้ำพุร้อน

แหล่งน้ำพุร้อนสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ลักษณะทางกายภาพ ปริมาณแร่ธาตุที่ละลายในน้ำ ดังนี้

1. แบ่งตามลักษณะกายภาพ ได้แก่
      1.1 น้ำพุร้อนไกเซอร์ (Geyser) เป็นน้ำพุร้อนที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังแรงมาก มีน้ำและไอน้ำที่ร้อนจัดพุ่งขึ้นมาได้สูงและมีแรงพุ่งออกมาเป็นระยะๆ ค่อนข้างสม่ำเสมอ บางแห่งน้ำอาจพุ่งสูงได้ถึง 60 เมตร ระยะเวลาการพุ่งน้ำออกมาจะเท่าๆ กัน เช่น 5 นาที 7 นาที ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่ใต้ผิวโลก มีโพรงกักเก็บน้ำติดต่อกัน เมื่อน้ำได้รับความร้อนในระดับลึกๆ ถูกสกัดกั้นไม่ให้ถ่ายเทได้โดยง่ายเพราะรูที่ทำให้น้ำไหลออกมามีขนาดเล็ก และมีน้ำซึ่งเย็นกว่าขังอยู่ในแอ่งที่อยู่ด้านบน น้ำที่อยู่ในระดับลึกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเมื่อสูงกว่า 100 องศาเซลเซียสก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นไอน้ำดันน้ำที่ขังอยู่ในรูไหลพุ่งขึ้นมา เมื่อไอน้ำได้ถ่ายเทพลังงานความร้อนจนหมดแรงดัน น้ำก็จะหยุดพุ่งจนสะสมความร้อนได้อีกก็จะพุ่งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง น้ำพุร้อนไกเซอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น น้ำพุร้อนโอลด์ เฟธฟูล (Old Faithful) ที่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellow Stone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำพุร้อนกีย์เซอร์ (Geysir) ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ไกเซอร์ (Geyser) และน้ำพุร้อนอีกหลายแห่งในประเทศนิวซีแลนด์

      1.2 น้ำพุร้อน (Hot Spring) หรือบ่อน้ำร้อน (Hot Pool) คือ แหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าร่างกายมนุษย์ไหลขึ้นมาจากใต้ดิน น้ำที่ขึ้นมามีตั้งแต่อุ่นๆ จนถึงเดือดพล่าน เนื่องจากทางเดินน้ำใต้ดินใหญ่ทำให้น้ำสามารถไหลเวียนอย่างรวดเร็วได้ น้ำร้อนที่ไหลขึ้นมาจะไหลออกไปจากแหล่งหรือกลายเป็นไอ เพื่อปล่อยพลังงานความร้อน เมื่อน้ำร้อนนั้นเย็นลงจะไหลกลับสู่ระบบน้ำใต้ดิน น้ำร้อนแต่ละแห่งจะมีแร่ธาตุรวมทั้งก๊าซละลายอยู่ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีสีและกลิ่นแตกต่างกัน และมีปริมาณน้ำที่ไหลออกมาจากแต่ละบ่อแตกต่างกัน เช่น บ่อน้ำพุร้อนที่ทะเลสาบโบโกเรีย น้ำพุร้อนนับร้อยแห่งที่ประเทศ ไอซ์แลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และน้ำพุร้อนในประเทศไทย เป็นต้น ถ้ามีเพียงน้ำร้อนไหลซึมขึ้นมาบนผิวดินจะเรียกว่าน้ำซึม (Seepage)

      1.3 บ่อไอเดือดหรือพุก๊าซ (Fumarole) คือ หลุมหรือปล่องที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมา จะไม่มีน้ำเหมือน น้ำพุร้อน สาเหตุอาจเกิดจากบริเวณนั้นมีน้ำเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับความร้อนจึงกลายเป็นไอออกมา หรืออาจเกิดจากการที่ชั้นใต้ดินมีความร้อนสูงมากจนน้ำกลายเป็นไอจนหมด บ่อไอเดือดพบมากในประเทศที่มีภูเขาไฟ แต่ก็สามารถพบได้ในพื้นที่ที่ไม่มีภูเขาไฟได้เช่นกัน

      1.4 บ่อโคลนเดือดหรือพุโคลน (Mud Pot) คือ โคลน (แอ่งตะกอนที่อิ่มตัวไปด้วยน้ำ) ซึ่งมีไอน้ำร้อนจัดอยู่เบื้องล่าง เมื่อไอน้ำนั้นเคลื่อนที่จะทำให้โคลนที่อยู่ด้านบนพุ่งกระจายขึ้นมาคล้ายการระเบิดย่อยๆ ในบริเวณภูเขาไฟ ปกติบ่อโคลนเดือดมักมีกำมะถันอยู่มากและมีหลาย
2. แบ่งตามปริมาณแร่ธาตุที่ละลายในน้ำ ในต่างประเทศสามารถแบ่งน้ำพุร้อนตามปริมาณแร่ธาตุที่ละลายในน้ำได้หลายสิบประเภท แต่ในประเทศไทย พบน้ำพุร้อนที่แบ่งตามส่วนประกอบเคมี เพียง 4 ประเภท (วรรณภา จ่าราช, 2546) ดังนี้

      2.1 น้ำพุร้อนทั่วไป (Simple Springs) เป็นน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน เกลือและแร่ธาตุอื่นๆ น้อยกว่า 1 กรัม/ลิตร เป็นน้ำพุร้อนส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย

      2.2 น้ำพุร้อนคาร์บอเนต (Carbonate Springs) เป็นน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำหรือเป็น น้ำพุเย็น ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนและแร่ธาตุอื่นๆ น้อยกว่า 1 กรัม/ลิตร ลักษณะคล้ายน้ำพุร้อนทั่วไป แต่มีปริมาณคาร์บอเนตสูงกว่า

      2.3 น้ำพุร้อนเกลือหรือน้ำพุร้อนน้ำเค็ม (Salt Springs) เป็นน้ำพุร้อนที่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่าน้ำพุร้อนทั่วไป มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากกว่า 1 กรัม/ลิตร กรณีที่น้ำประกอบด้วยเกลือระหว่าง 1-5 กรัม/ลิตร เรียกว่าน้ำพุเกลืออ่อน (Weak Saline) ประกอบด้วยเกลือระหว่าง 5-10 กรัม/ลิตร เรียกว่าน้ำพุเกลือ และประกอบด้วยเกลือมากกว่า 10 กรัม/ลิตร เรียกว่าน้ำพุเกลือเข้มข้น (Strong Saline) มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาความร้อนได้ดี

      2.4 น้ำพุร้อนแอลคาไล (Alkaline Springs) เป็นการแบ่งประเภทน้ำพุร้อน โดยใช้ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำพุร้อนเป็นหลัก น้ำพุร้อนที่มีค่า pH 7.5-8.5 เรียกว่า Weak Alkaline Springs และน้ำพุร้อนที่มีค่า pH สูงกว่า 8.5 เรียกว่า Alkaline Springs

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น