วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความเปลี่ยนแปลงของฐานประชากรในจีน

 จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก  คือมีถึงประมาณ 1,340 ล้านคนในช่วงสิ้นปี 2010 ที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็น 20% ของประชากรรวมทั่วทั้งโลกที่จะมีมากถึง 7,000 ล้านคนในปี 2011 นี้

        ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประชากรจีนได้มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณและทางคุณภาพ

        ในปี 1951 อันเป็นช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยการนำของเหมาเจ๋อตุง ได้สถาปนา”จีนใหม่”ขึ้นมาอย่างใหม่หมาดนั้น คนจีนมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 46 ปีเท่านั้น

        แต่พอพึงปีล่าๆ มานี้ หน่อเนื้อชาวมังกรได้มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 73 ปี

        แต่สิ่งที่“สวนทาง”กับตัวเลขข้างต้นก็คือ แนวโน้มของอัตราเจริญพันธุ์ของ“แม่จีน” ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่ง

        ในปี 1973 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายๆ ของยุคการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ของจีน (อยู่ในช่วงระหว่างปี 1966 – 1976) นั้น แม่แต่ละคนของจีนให้กำเนิดลูกเฉลี่ยถึง 6 คน

        แต่พอถึงปี 1978  อันเป็นปีแรกๆ ที่จีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศ (Open-door policy) โดยการนำของเติ้งเสี่ยวผิงนั้น แม้แต่ละคนในแดนมังกรให้ลูกเฉลี่ยลดเหลือเพียง 2.6 คน

        หลังจากดำเนินโยบายเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการใช้กลไกตลาด (Market mechanism) เพิ่มมากขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1970’s เป็นต้นมา ทางการมังกรโดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The Chinese Communist Party – CPC) ก็ได้ดำเนินนโยบายให้แต่ละคู่สมรสมีลูกได้เพียงคนเดียว

        คู่สมรสที่สามารถมีลูกได้เกินกว่า 1 คนนั้นก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ต้องมี “เงื่อนไข”ไม่ใช่น้อย

        ตัวอย่างเช่น การที่คู่สมรสที่ต่างเป็น“ลูกโทน”ทั้งคู่ อาจได้รับอนุญาตให้มีลูกสองคนได้  หรือคู่สมรสที่เป็นเกษตรกรที่จำเป็นต้องมีกำลังแรงงานช่วยทำงานในไร่นาของตนมากขึ้น ก็อาจได้รับการลดหย่อนได้มากขึ้น

        นโยบายการกำหนดให้คู่สมรสมีลูกได้เพียงคนเดียวดังกล่าว ได้ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ (โดยการถูกบังคับ) ของ“แม่จีน” ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980’s  แม่จีนแต่ละคนมีลูกเฉลี่ยระหว่าง 2.1-2.6 คน

        แต่พอผ่านเหตุการณ์ไม่สงบ“เทียนอันเหมิน”ที่เกิดขึ้นในกลางปี 1989  อัตราการมีลูกโดยเฉลี่ยของ“แม่”ชาวมังกร ก็ได้ลดต่ำลงไปอีก โดยมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.65 คนในปี 1991 และลดต่อไปเหลือ 1.52 คนในปี 1992 อันเป็นปีที่มีการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 14 ของจีน ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (Socialist market economy) และถือเป็น“ศักราชใหม่”ทางการพัฒนาของจีน ภายหลังจากผ่าน“บททดสอบ”บทแรกๆ ของการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ท่ามกลางความเชี่ยวกรากทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมือง ที่แผ่นดินมังกรต้องฝ่าข้ามภายหลังเปิดประเทศ

        พอสรุปบทเรียนบทแรกๆเสร็จสรรพ ย่างก้าวใหม่ของการเปิด“ประตูถ้ำ”มังกรก็ถูกกำหนดออกมาโดย “CPC” ภายใต้การนำอยู่หลังฉากของอภิมหาบุรุษ“ร่างเล็ก” แต่ “เขื่องอักโข” ด้วยอำนาจนาม “เติ้งเสี่ยวผิง”  ตัวอย่างเช่น การนำแบบอย่างของความสำเร็จทางการพัฒนาในช่วงทศวรรษแรกๆ  เช่น นโยบายการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones – SEZ’s) และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล (Coastal Areas Development Zones) ให้ขยายไปสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจให้กว้างขวางขึ้นในแดนมังกร โดยมีผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินและนายกรัฐมนตรีจูหรงจีเป็น“หัวหอกสำคัญ”

        ในช่วงทศวรรษที่ 2000’s อันเป็นช่วงภายหลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้น (จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2001 เป็นต้นมา) อัตราการให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยของแม่แต่ละคนในแดนมังกร อยู่ในช่วงต่ำกว่า 2 คนตลอด และยืนอยู่ที่ 1.6 คน โดยเฉลี่ยในปัจจุบัน

        มีข้อที่น่าสังเกตว่าตัวเลขอัตราการเกิดของประชากรในจีนได้ลดลงตลอด  โดยในช่วงทศวรรษที่ 1990’s  มังกรยังมีอัตราการเกิดสุทธิของประชากรอยู่ที่ 1.1% แล้วลดลงเหลือเพียง 0.6% ในช่วงทศวรรษต่อมา

        ตัวเลขดังกล่าว เป็นไปในทิศทางที่สวนทางกับอัตราการขยายตัวของ GDP จีน ที่มีการเติบโตเป็นตัวเลข“สองหลัก”เกือบตลอดทุกปี ในช่วงที่แดนมังกรมีอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว 

        การลดลงของอัตราการเกิดดังกล่าว  แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ในด้านที่ทำให้ประเทศไม่ต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูผู้คนใหม่ๆ  แต่ก็สร้างปัญหาตามาไม่ใช่น้อยเช่นกัน 

        ตัวอย่างเช่น   จีนจะมีประชากรในวัยเกษียณคืออายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 18 คนต่อคนในวัยทำงาน (Labor force) ซึ่งของจีนกำหนดไว้ที่อายุระหว่าง 15-59 ปีทุก ๆ 100 คน และเมื่อถึงปี 2050 หรืออีกประมาณ 4 ทศวรรษข้างหน้า แดนมังกรจะมีประชากรในวัยเกษียณถึง 60 คน ต่อคนในวัยทำงานทุกๆ 100 คน

        ดังนั้น ถ้าจีนเป็นประเทศที่ประชากร“แก่ก่อนรวย” ก็คงจะมีปัญหาตามมามากมายแน่นอน เพราะจะขาดแคลนทรัพยากรการเงินในการใช้“เลี้ยงดู” คนสูงอายุที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที
        ประชากรที่เกิดน้อยลง ยังสร้างปัญหาการลดลงของเด็กนักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาในแต่ละปี

        ในปี 1995 แดนมังกรมีเด็กนักเรียนเริ่มเข้าเรียนใหม่ในชั้นประถมต้นจำนวน 25.3 ล้านคน และตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงเหลือเพียง 16.7 ล้านคนในปี 2008 และเชื่อกันว่าในอีกประมาณทศวรรษข้างหน้า คนในวัย 20-24 ปีจะลดลงถึง 50%



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น