วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โทบา (Lake Toba) ที่สุดแห่งทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟ

   ทะเลสาบโทบา (Lake Toba)  ณ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นทะเลสาบที่เกิดในบริเวณปากปล่องภูเขาไฟ กล่าวได้ว่าเป็น Caldora ที่ใหญ่ที่สุดในโลก  (largest volcanic lake in the world) เสห่น์ของทะเลสาบโทบาอยู่ที่ความเป็นธรรมชาติที่ยังสะอาด อากาศสดชื่นบริสุทธิ์ถูกรายล้อมด้วยสีเขียวชะอุ่มของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปกคลุม สร้างความรู้สึกได้ถึงความเป็นชนบทของวิถีชีวิตท้องถิ่น ความสวยงามของทะเลสาบสีฟ้าอมเขียวที่กลายร่างมาจากภูเขาไฟที่เคยน่าสะพรึงกลัวมาก่อน 


ภาพ : Lake Toba - view of the crater lake.

Photographers A.M. & K.D.Hollitzer. Copyright 1996.

          ทะเลสาบโทบา อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเมดาน (Medan) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของสุมาตราเหนือ เป็นศูนย์กลางทางการค้าและท่าเรือที่สำคัญ ราว 160 กิโลเมตร ทะเลสาบแห่งนี้ มีเกาะขนาดใหญ่ ชื่อซาโมซีร์ (Samosir)อยู่ตรงกลางทะเลสาบ และมี Parapat เป็นเมืองท่องเที่ยวริมชายฝั่ง 


ภาพ : ที่ตั้ง ทะเลสาบโทบา (Lake Toba) 

ทะเลสาบโทบา เกิดจากการระเบิดแบบซูเปอร์ภูเขาไฟ (supervolcano)

          การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟ (supervolcano) นั้นแตกต่างจากการระเบิดของภูเขาไฟทั่วไป แน่นอนว่ามันรุนแรงมากกว่าแรงระเบิดของภูเขาไฟธรรมดาหลายร้อยเท่า พ่นเถ้าถ่าน และก๊าซพิษจำนวนมหาศาลขึ้นไปปกคลุมในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกครั้งใหญ่

          ภูเขาไฟโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นปล่องภูเขาไฟ การระเบิดจะเกิดจากการสะสมของหินละลาย (Magma)ใต้เปลือกโลก จำนวนมากและถูกแรงดันมหาศาลภายในโลกผลักดันให้ปะทุออกมาบนผิวโลก แต่สำหรับ Supervolcanoe นั้นมันซ่อนตัวอยู่ลึกใต้พื้นดินจึงทำให้ยากต่อการตรวจพบ แทนที่หินละลายเหล่านี้จะระเบิดออกมาที่ผิวโลก หินละลาย(Magma) เหล่านี้กลับสะสมกันก่อนเป็นเวลาหลายพันปีจนเกิดเป็นบ่อหินละลายขนาดยักษ์ (Magma chamber) ทับถมกันจนหนาหลายสิบกิโลเมตรอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก  ระหว่างนั้นมันจะดูดซับเอาก๊าซต่างๆ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ และ คารบอนไดอ๊อกไซด์ไว้  เมื่อสะสมนานนับพันปีก็จะเกิดแรงดันมหาศาล และในที่สุดก็เพียงพอที่จะถึงกาลปะทุอออกมาเหนือผิวโลกอย่างรุนแรง เถ้าถ่านภูเขาไฟจากการระเบิดจะขึ้นไปปกคลุมบรรยากาศ ก๊าซจำพวกซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะสะท้อนแสงอาทิตย์ไม่ให้ตกลงมาสู่พื้นโลกได้ เต็มที่ ทำให้อุณหภมิโลกลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฤดูหนาวนิวเคลียร์ ( nuclear winter )


ภาพ : ความแตกต่างของการระเบิดของภูเขาไฟธรรมดาและ Supervocano
ที่มา :
www.vcharkarn.com

          และลาวาที่ทะลักออกมาด้วยความเร็วสูง และหมดไปอย่างรวดเร็ว การยุบตัวลงของโครงสร้างด้านในของแหล่ง Magma ในก้นหลุม (Magma chamber) ทำให้เปลือกโลกที่อยู่ข้างบนยุบตัวลงไป เกิดเป็นหลุมขนาดยักษ์ ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกหลุมที่เกิดจากการระเบิดของ Supervolcanoes ว่า Caldora และเมื่อเกิดการระเบิดครั้งต่อๆมา ก็จะทำให้บริเวณด้านข้างภูเขาไฟยิ่งยุบตัว เมื่อมีฝนตกลงมาสายน้ำก็จะถูกกักขังไว้ในแอ่ง เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟ (Crater Lake) โดยลักษณะของ Caldera volcano จะมีลักษณะปากหลุมกว้างใหญ่เป็นวงกลม หรือเป็นหลุมแอ่งกระทะ


ภาพ : การเกิด Magma chamber และการเปลี่ยนแปลง
ที่มา :
www.vcharkarn.com

          นักธรณีวิทยาพบว่าการเกิด Supervolcanoes มักจะเกิดในบริเวณที่เรียกว่า Subduction zone ซึ่งเป็นบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรกับแผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปเคลื่อนที่เข้าชนกัน แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นมหาสมุทรที่บางและมีความหนาแน่นสูงกว่าจะมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกภาคพื้นทวีปที่หนาและความหนาแน่นน้อยกว่าเช่น บริเวณชายฝังแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา และ บริเวณประเทศอินโดนิเชียเป็นต้น


ภาพ : ของภูเขาไฟโทบา จะเห็นว่าพื้นดินนั้นยุบตัวลงไป

และมียอดแหลมๆ ตรงกลางหลงเหลืออยู่ ที่มา : www.seanet.com


ภาพ : caldera of Kaguyak volcano


ภาพ : Aerial photo of the crater lake in Katmai NationalPark and Preserve, Alaska.

          Lake Toba หรือที่รู้จักกันอีกชื่อตามภาษาบาตักเรียกว่า Danau Toba นักธรณีวิทยาประมาณกันว่าทะเลสาบโทบา เกิดภายหลังจากการระเบิดแบบซูเปอร์ภูเขาไฟ (supervolcano) เมื่อ 74,000 ปีมาแล้ว นับว่าเป็นเหตุการณ์ “perfect horror” เพราะมันทั้งอบอวลไปด้วยรุนแรงและยิ่งใหญ่น่าสะพรึ่งกลัว นักธรณีวิทยากำหนดค่าชี้วัดระดับความรุนแรงของการระเบิดของภูเขาไฟเป็นระดับ เรียกว่า Volcano Explosivity Index (VEI) เป็นสเกลตั้งแต่ 0-8 คือ จากไม่มีการระเบิดเลยจนถึงระดับการทำลายล้างสูงสุด แน่นอนว่า การระเบิดของภูเขาไฟโทบาได้ถูกจัดไว้ที่ระดับ 8 (described as "mega-colossal") จากการเกิดระเบิดใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจึงทำให้เถ้าภูเขาไฟ และก๊าซกระจายไปยังซีกโลกเหนือและใต้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เชื่อกันว่าการระเบิดครั้งนั้นมีแรงดันมหาศาลทำให้ลาวาพุ่งไปไกลถึงภาคใต้ของประเทศอินเดีย คิดเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร และกว่าจะพ่นลาวาออกมาจนกว่าจะมอดไปต้องใช้เวลานาน 6 ปี อีกทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลกตามมา เมื่อศึกษาหลักฐานจากชั้นหินใต้มหาสมุทรอินเดีย และแท่งน้ำแข็งจึงทำให้รู้ว่า จากการระเบิดในครั้งนั้น ได้ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกลดลง 3-3.5 degrees Celsius เกิดฤดูหนาวภูเขาไฟอย่างน้อย 6 ปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรงพืชและสัตว์มากมาเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  มีการสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่า การระเบิดของภูเขาไฟโทบาทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง

          ปริมาณของเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ โทบาปล่อยออกมา คิดเป็นประมาณ 2800 ลูกบาศก์กิโลเมตร(2800 cubic km)  เทียบกับ Supervolcanoes ของ Yellowstone ซึ่งปะทุขึ้นเมือ 2 ล้านปีมาแล้ว นั้นปล่อยเถ้าถ่านออกมา 2500 ลูกบาศก์กิโลเมตร (2500 cubic km) จากหลักฐานที่มีอยู่ จึงเชื่อกันว่าโทบา คือการระเบิดครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยขึ้นมาในโลก


          เมื่อภูเขาไฟระเบิดจึงทำให้กรวยภูเขาไฟพังทลายลง เกิดเป็นแอ่งภูเขาขนาดใหญ่  และเมื่อผ่านการระเบิดมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ปากปล่องขยายทั้งทางกว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ หินเหลวและก๊าซต่างๆที่สะสมอยู่ใน Magma chamber  เมื่อถูกพ่นออกมาจนหมด ภายในก็จะกลายเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่และแผ่นดินเบื้องบนก็จะยุบตัวลงเข้าไปแทนที่พื้นที่ว่างดังกล่าว จนเกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่รองน้ำฝนที่ตกลงมาจนกลายเป็นทะเลปากปล่องภูเขาไฟ (Volcano crater) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเนื้อที่ 1,645 ตารางกิโลเมตร อยู่สูง 906 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีความยาวยาวของทะเลสาบกว่า 1๐๐ กิโลเมตร กว้าง 30 กิโลเมตร) มีความลึกเฉลี่ย 450 เมตร จุดที่ลึกที่สุด มีความลึกที่สุดถึง 505 เมตร จากการระเบิดของภูเขาไฟได้ทำให้เกิดทัศนียภาพของหน้าผาสูงถึง 500 เมตร กลางทะเลสาบจะมี samosir island  และมีทะเลสาบขนาดย่อมอยู่บนเกาะ samosir อีกต่อหนึ่ง


ภาพ : Lake Toba (Images courtesy of Google Earth)

ชนเผ่าบาตัก (Bataks)

          ประชากรที่อาศัยอยู่รอบๆทะเลสาบ และบนเกาะซาโมเซอร์คือชนเผ่าบาตัก (Bataks)


ภาพ : Batak Toba
ที่มา :
www.flickr.com

          ชาวบาตักเองมีหลายเผ่า เช่น บาตัก  เปซิเซอร์, บาตัก ไสมาลุงกุน, บาตัก มันไดลิ่ง, บาตัก ปากพัก, ฯลฯ สำหรับเผ่าที่อยู่บนเกาะซาโมเซอร์เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เรียกชื่อตามชื่อของทะเลสาบว่า  “บาตัก โทบา (Batak Toba)” ในอดีตชาวบาตักมีความเชื่อบูชาธรรมชาติ และอินโดนีเซียก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก  แต่เมื่อชาวดัชท์ยึดครองอินโดนีเซียเป็นอาณานิคม มิชชั่นนารีตะวันตกจะเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา ทำให้ภายหลังชาวบาตักบนเกาะซาโมเซอร์ส่วนมาก เปลี่ยนจากความเชื่อดั้งเดิมมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแต้นท์และโรมัน คาทอลิก แต่ก็ยังแฝงไปด้วยการนับถือภูตผี และความเชื่อบูชาธรรมชาติอยู่ด้วย

          เอกลักษณ์ของชาวบาตักที่เห็นได้ทั่วไปนั้นก็คือ การออกแบบหลังคามีลักษณะสูง รูปร่างคล้ายเรือ สีดั้งเดิมจะเป็นสีแดง ดำ ขาว 


ภาพ : Batak houses on Lake Toba, Sumatra
ที่มา :
www.pbase.com

          สำหรับอาชีพของชาบาตักนั้น จะให้ความสำคัญไปทางการประมง ด้วยสภาพภูมิประเทศในบางส่วนจะมีความลาดชันจึงไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกนัก การปลูกข้าวก็พอมีแค่เพียงพอต่อการบริโภคเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นดินแดนภูเขาไฟมาก่อนดินจึงมีความสมบูรณ์เพาะปลูกได้ผลดี และอีกหนึ่งรายได้หลักย่อมหนีไม่พ้นรายได้จากการท่องเที่ยว

          สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลายคนเฝ้าฝันอยากไปยืนสูดอากาศบริสุทธิ์ พลางสัมผัสกับเสน่ห์ความงามของดินแดนภูเขาไฟแห่งนี้ และหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในลิสต์ของนักเดินทางย่อมหนีไม่พ้น ทะเลสาบโทบา

ข้อมูลอ้างอิง
ทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ ; วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แทมโบร่า...อภิมหาภูเขาไฟในรอบหมื่นปี ; วิรุฬหกกลับ
Lake Toba  ;  Wikipedia, the free encyclopedia
แนวแผ่นเปลือกโลกลู่เข้าหากัน (Convergent Plate Boundaries) ; วิชาการธรณีไทย
Volcanoes : สำรวจภูเขาไฟ ;
www.sunflowercosmos.org
Toba, Sumatra, Indonesia ; www. volcano.oregonstate.edu
The Lake Toba Super Volcano Eruption  ; Administrator  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น