วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขบวนการเสรีไทย

ขบวนการเสรีไทย

ความหมายและความสำคัญ
ขบวนการเสรีไทยเดิมทีไม่ได้มีชื่อเรียกขบวนการที่ชัดเจนและมีสมาชิกไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน แต่เป็นขบวนการของประชาชนชาวไทยผู้รักชาติที่มีเป้าหมายชัดเจน คือต้องการรักษาเอกราชของชาติไทยไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติในสงครามโลกครั้งที่สองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอักษะหรือฝ่ายสัมพันธมิตรก็ตาม โดยมีอุดมการณ์ที่จะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยเอาไว้ให้เป็นของคนไทย ต่อมาภายหลังจากมีความชัดเจนในเป้าหมายและรู้ตัวผู้เข้าร่วมแล้วจึงเอาชื่อ “เสรีไทย” จากชื่อขบวนการของอเมริกามาใช้ ในขณะที่เบื้องต้นขบวนการในประเทศไทยใช้ชื่อ ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น แต่ท้ายที่สุดขบวนการของผู้รักชาติดังกล่าวก็สามารถดำเนินการปกปักรักษาเอกราชของชาติเอาไว้ได้ตามเจตนารมณ์ ไม่ว่าขบวนการเสรีไทยจะมีข้อขัดแย้งหรือความไม่ชัดเจนอย่างไรก็ตาม แต่รูปธรรมที่ชัดเจนและไม่อาจปฏิเสธได้ต่อบทบาทของเสรีไทยนั้นคือ การต่อสู้จนได้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง

ประเทศไทยในสถานการณ์สงคราม

สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในยุโรปเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 หลังจากเยอรมันบุกโจมตีโปแลนด์อย่างสายฟ้าแลบ และทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปเข้าสู่สงครามโดยแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายอักษะประกอบด้วย เยอรมนีกับอิตาลี และมีญี่ปุ่นเข้าร่วมในภายหลัง และฝ่ายสัมพันธมิตรคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน เป็นต้น ในช่วงแรกของสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเป็นฝ่ายถอยร่นจนตั้งตัวไม่ติด ประเทศฝรั่งเศสถูกเยอรมนียึดครองสำเร็จรัฐบาลของ ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ต้องหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในประเทศอังกฤษที่เยอรมนียังยึดครองไม่ได้ ทั่วทั้งยุโรปเต็มไปด้วยไฟสงคราม
ในขณะที่สถานการณ์ในเอเชียแปซิฟิกนั้นญี่ปุ่นมหาอำนาจใหม่ของเอเชียซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับเยอรมนีได้ประกาศจัดอำนาจใหม่ในเอเชีย ด้วยการขจัดอิทธิพลชาติตะวันตกเจ้าอาณานิคมออกไป มีการขยายอำนาจด้วยการรุกรานแมนจูเรียและจีน ก่อนจะขยายอิทธิพลทางทหารมาสู่อินโดจีน ประเทศไทยเองประกาศนโยบายเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดมาตั้งแต่เริ่มเกิดสงคราม ด้วยการประกาศราชโองการให้ปฏิบัติตามความเป็นกลางขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2482 และต่อมาได้ลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับสามมหาอำนาจในเอเชียขณะนั้นคือ อังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสถานการณ์ที่ฝรั่งเศสกำลังเป็นฝ่ายแพ้สงครามต่อนาซี
ขณะเดียวกันเยอรมนีเองก็ต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดแนวรบในเอเชียขึ้น เพื่อให้สัมพันธมิตรในยุโรปต้องรับศึกสองด้าน ส่วนสหรัฐอเมริกายังไม่เข้าสู่สงคราม แต่ต่อมาถูกบังคับให้เข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อญี่ปุ่นได้เปิดการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ในรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นับได้ว่าทั้งโลกเข้าสู่สงครามโลกอย่างแท้จริง
การเปิดแนวรุกของญี่ปุ่นในเอเชียแปซิฟิกได้เกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวกันทั้งหมด รวมทั้งการบุกประเทศไทยโดยไม่ได้ประกาศสงครามล่วงหน้า และประเทศไทยก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เมื่อญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อไปทำสงครามกับมลายูและพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศไทยแม้พยายามดำรงความเป็นกลางมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดสงครามโลกเป็นต้นมา ก็จำต้องเข้าสู่สงครามโดยยอมให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านประเทศไทยโดยไม่ได้ยึดครอง แต่ทำสัญญาเป็นมิตรร่วมรบกันในสงคราม ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศสงครามกับประเทศพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันทำให้ประเทศไทยต้องเข้าไปสู่การเมืองระหว่างประเทศในระหว่างสงครามไปด้วย สถานการณ์ของประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ไฟสงครามที่รัฐบาลและบุคคลสำคัญของคณะราษฎรที่มีอิทธิพลทางการเมืองขณะนั้น ต่างก็มีเจตจำนงร่วมกันในการที่พยายามจะคงสถานะเอกราชของชาติเอาไว้ด้วยการใช้วิธีการทางการทูตแบบโอนอ่อนผ่อนตามแล้วค่อยแก้สถานการณ์ไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย
ขณะเดียวกันก่อนหน้าจะเกิดสงครามสภาพของการเมืองภายในประเทศไทยเองก็ได้เกิดความแตกแยกของคณะราษฎรออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือฝ่ายทหารบกที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกลุ่มพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยความแตกแยกนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นหลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น สถานการณ์การเมืองภายในประเทศขณะนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เนื่องจากกลุ่มพลเรือนในคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ถูกลดบทบาทลงในทางการเมือง เพราะฝ่ายญี่ปุ่นเองก็ไม่ไว้วางใจ ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องออกจากการร่วมรัฐบาลและรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน โดยบทบาทของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในทางการเมืองมักถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงโดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองของรัฐบาลไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยช่วงแรก ระหว่างปลายปี พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คือช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบอ่อนคือการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วยการโฆษณาอุดมการณ์ใหม่ๆ ให้คนนิยมหันมาทำตาม เช่น การประกาศรัฐนิยม และช่วงที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2487 คือในระหว่างสงครามที่เริ่มจากการเข้าสู่ภาวะสงครามจนสิ้นสุดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี 2487 เรียกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบแข็งซึ่งได้ดำเนินการทางการเมืองอย่างแข็งกร้าวและเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการบังคับมากขึ้น[1]
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นในเช้าตรู่ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 แล้วรัฐบาลก็ได้พิจารณาตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นโดยตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่นในวันเดียวกัน ก่อนจะมีการตกลงในกติกาพันธไมตรีทางทหารกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484[2] เป็นช่วงที่รัฐบาลดำเนินนโยบายแบบบังคับประชาชนให้ทำตามท่านผู้นำอย่างเข้มข้น หรือเป็นนโยบายการสร้างชาติที่อาศัย “การปฏิวัติวัฒนธรรมแบบแข็ง” คือมีความเป็นชาตินิยมแบบตกขอบ จนนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยสมัยใหม่มักจะนิยามการนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่เริ่มสงครามจนสิ้นสุดอำนาจลงในปี พ.ศ. 2487 ในขณะที่สงครามยังไม่ยุตินี้ว่าเป็นยุค “เผด็จการ[3]

กำเนิดเสรีไทยเพื่อเอกราชของชาติ

ขบวนการเสรีไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันแรกที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คือวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อญี่ปุ่นได้บุกโจมตีประเทศไทยแบบสายฟ้าแลบด้วยการยกพลขึ้นบกในเมืองชายทะเลอ่าวไทย โดยมีทหารและประชาชนในหลายจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานีได้ทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนกระทั่งรัฐบาลได้ประกาศให้หยุดยิงและเข้าร่วมเป็นมิตรในสงครามกับญี่ปุ่น จนส่งผลให้ไทยต้องพัวพันกับสงครามไปตลอดจนจบสงคราม
การยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยของรัฐบาลนั้นในคณะรัฐมนตรีเองมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน แต่ก็ยอมจำนนต่อเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นมีกำลังมากกว่าและหากสู้รบก็คงต้านไม่ได้แน่นอน แต่ในทางหนึ่งนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย และหลายคนที่ร่วมรัฐบาลอยู่เห็นว่า หากเข้าร่วมฝ่ายญี่ปุ่นแล้วอาจทำให้ต้องเสียเอกราชถ้าญี่ปุ่นแพ้สงคราม เนื่องจากก่อนหน้าสงครามโลกอุบัติไม่นานนั้น นายปรีดี ได้เดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติมหาอำนาจขณะนั้นแล้วทราบดีว่าฝ่ายสัมพันธมิตรมีศักยภาพในการทำสงครามเหนือกว่า เพราะมีอุตสาหกรรมในประเทศที่ก้าวหน้ารองรับ โดยเฉพาะถ้าสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งอเมริกาก็แสดงออกให้เห็นมาตลอดว่าเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร
ในค่ำวันเดียวกันนั้นจึงปรากฏคนไทยผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้ที่เคยยืนยันความเห็นในการรักษาความเป็นกลางของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด และเป็นผู้ที่พอจะมีบารมีทางการเมืองทัดเทียมกับจอมพล ป. จึงตกเป็นเป้าหมายของผู้มีความต้องการก่อตั้งขบวนต่อต้านญี่ปุ่นให้เป็นผู้นำ ดังที่นายปรีดีเล่าว่า
"เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) เพื่อนที่มาพบนั้นก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเอง และของราษฎรส่วนมากที่ได้ประสบเห็นภาพกองทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นทหารต่างด้าวได้เข้ามารุกรานประเทศไทย…"
เพื่อนที่ร่วมปรึกษาหารือขณะนั้น เห็นว่าราษฎรไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาล ว่าจะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยให้สมบูรณ์อยู่ได้ คือ จะต้องยอมตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งนำประเทศชาติเข้าผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว
เมื่อได้ปรึกษาหารือกันพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป" [4]
ถือได้ว่า “ขบวนการเสรีไทย” อันเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลังจากได้รวมกันกับขบวนการต่อต้านจากนอกประเทศในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้วนั้น[5] นับเป็นขบวนการปกปักรักษาเอกราชของชาติจากผู้รุกรานได้เกิดขึ้นวันเดียวกับการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น และเป็นเจตจำนงของคนไทยโดยแท้จริงที่ต้องการต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานที่อาจนำไทยไปสู่การเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงและต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก นอกจากจะเสี่ยงต่อข้อหากบฏในราชอาณาจักรที่ต่อต้านรัฐบาลเพราะขณะนั้นรัฐบาลจอมพล ป. เข้มแข็งอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะสงคราม

วัตถุประสงค์ของขบวนการ[6]

ในชั้นแรกสุดคณะผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติไว้สองประการสำคัญสองด้านประกอบกันคือ
1. ต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติ และร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร
2. ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ภารกิจขององค์การเสรีไทยได้เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ
3. ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับสถานการณ์หลังสงคราม
โดยจะอาศัยทั้งการปฏิบัติการทางทหารในการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกรานควบคู่ไปกันกับการเจราเพื่อทำความเข้าใจกับสัมพันธมิตรในสถานการณ์ที่ถูกรุกราน ในทางปฏิบัติของขบวนการเสรีไทยนั้นก็คือพยายามปฏิบัติให้สัมพันธมิตรเห็นและเข้าใจสถานะของประเทศไทยว่า ถูกบังคับให้ประกาศสงคราม ไม่ได้มีเจตนาจะเป็นศัตรูกับประเทศสัมพันธมิตรเลย โดยได้พยายามปฏิบัติอย่างดีกับเชลยสัมพันธมิตรที่ถูกคุมขังอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่นายปรีดี เป็นผู้ประศาสน์การอยู่ขณะนั้น และพยายามสื่อสารและแสวงหาความสนับสนุนการปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยประเทศไทยจากการรุกรานของญี่ปุ่น[7]

การปฏิบัติงานขบวนการเสรีไทย

เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจโครงสร้างของขบวนการและเห็นบทบาทของบุคคลที่ต่างกันในการรวมตัวกันเป็นเสรีไทยจึงขอจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
1. ขบวนการภายในประเทศ
ก่อนหน้าจะติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศได้นั้นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศยังไม่มีกองกำลังของตนเอง มีเพียงแต่ผู้ร่วมปฏิบัติงานที่เข้าร่วมงานใต้ดินเพื่อเอกราชของชาติไม่ว่าทางใดๆ และปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าขบวนการต่อต้านคือนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีกลุ่มคนสำคัญคือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในอำนาจรัฐ เช่น บางส่วนของคณะรัฐมนตรี นักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการกลุ่มต่างๆ โดยในทางการเมืองได้วางเป้าหมายที่ต้องการโค่นอำนาจจอมพล ป. เพื่อจะสามารถปลดเปลื้องพันธกรณีที่ไทยทำไว้กับญี่ปุ่น ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานมีบทบาทในฐานะเป็นผู้สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงข้าราชการและประชาชนในพื้นที่อีกจำนวนมากที่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นกองกำลังที่สำคัญของเสรีไทย
ในส่วนของสมาชิกขบวนเสรีไทยในประเทศสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มสำคัญได้สามระดับกล่าวคือ ระดับแกนนำคือลูกศิษย์ลูกหาและคนใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า "รู้ธ" โดยแบ่งหน้าที่กันทำงานสำคัญ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศ การไปจัดตั้งหน่วยกองกำลังขึ้นในจังหวัดต่างๆ รับส่งอาวุธและพลพรรคเสรีไทยเข้าออกประเทศ ระดับสองคือคนที่ร่วมมือด้วยคือนักการเมืองที่เห็นด้วยและยืนข้างเดียวกันคือผู้ที่มีเป้าหมายทางการเมืองในการดำเนินงานให้รัฐบาลจอมพล ป.พ้นจากการเป็นรัฐบาลและปลดพันธกรณีกับญี่ปุ่น และระดับที่สามซึ่งมีมากที่สุดคือผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความรักชาติจากการจัดตั้งของสมาชิกในขบวนการ ซึ่งสมาชิกเสรีไทยต่างต้องปิดบังฐานะกันอย่างเคร่งครัดและไม่รู้จักกันในแนวราบแต่จะรู้ว่าตนเองขึ้นตรงหรือรับคำสั่งจากใคร มีเพียงหัวหน้าขบวนการในประเทศคือนายปรีดี พนมยงค์เท่านั้นที่รู้เรื่องราวทั้งหมด
เป้าหมายของการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศคือต้องการติดต่อกับชาติพันธมิตร เพื่อส่งข่าวให้ทราบว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในประเทศ และต้องการความร่วมมือในทางการทหารคือจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาร่วมรบต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อสถานการณ์การใช้กำลังมาถึง โดยการจัดตั้งกำลังติดอาวุธขึ้นในจังหวัดต่างๆ ขึ้นมาเตรียมพร้อมเอาไว้และมีการฝึกนักเรียนทหารสารวัตรจากนักศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งความร่วมมือกับพันธมิตรจะถูกจำกัดอยู่ในเรื่องนี้เป็นหลักโดยเฉพาะกับทางอังกฤษ โดยยังมีการดำเนินการทางการเมืองเพื่อหาทางให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศผู้แพ้สงครามเป็นเป้าหมายที่นายปรีดีให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกที่ต้องการบรรลุด้วย และได้ดำเนินการผ่านทางสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลจากจอมพล ป. พิบูลสงครามมาเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ที่กล่าวขานกันว่าเป็นรัฐบาลเสรีไทยในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2487 แล้ว การดำเนินงานของเสรีไทยก็เป็นไปอย่างก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับการติดต่อระหว่างพลพรรคเสรีไทยที่มาจากนอกประเทศอยู่แล้วถูกควบคุมตัวสามารถติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศทั้งสายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้อย่างสะดวก ขบวนการเสรีไทยในประเทศจึงเกิดการเคลื่อนไหวกันอย่าคึกคัก เริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังเสรีไทยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนของเสรีไทยนอกประเทศและกองทัพสัมพันธมิตรที่ต้องการให้มีการจัดตั้งกองกำลังเสรีไทยขึ้นในประเทศในท้องที่จังหวัดต่างๆ
ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการขับไล่ญี่ปุ่นที่จำเป็นต้องมีกองกำลังเป็นของตนเอง จึงมีการฝึกพลพรรคเสรีไทยซึ่งมีอยู่สองขั้นตอน ได้แก่[8]
ขั้นตอนที่ 1 การจัดเตรียมบุคคล เพื่อที่จะเป็นหัวหน้าทำการฝึกอาวุธ และสอนยุทธวิธีการสู้รบให้แก่พลพรรคเสรีไทย ที่มีการจัดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะจัดส่งตำรวจ ทหาร พลเรือน ในค่ายของสัมพันธมิตรในอินเดียและเกาะลังกาแล้ว ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตรขึ้นเพื่อฝึกฝนวิชาทหารให้กับนิสิตจุฬาลงกรณ์และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นกำลังพลที่มีความรู้ที่จะสามารถไปขยายการฝึกให้กับสมาชิกส่วนอื่นต่อได้ โดยการจัดการฝึกกองกำลังนายทหารสารวัตรได้ทำอย่างเปิดเผยเป็นที่รับรู้ทั้งฝ่ายทหารไทยและกองทัพญี่ปุ่นด้วย
ขั้นตอนที่ 2 การขยายแนวร่วมด้วยการจัดฝึกกองกำลังใต้ดินขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วยความร่วมมือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และครูที่เป็นกำลังหลักของเสรีไทย โดยแบ่งตามพื้นที่รับผิดชอบของผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด ประสานกับนายทหารเสรีไทยทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
โดยฝ่ายกองทัพอังกฤษและอเมริกาได้แบ่งเขตรับผิดชอบจัดตั้งกองกำลังขึ้น จากการประชุมร่วมกันระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กับพลจัตวา วิคเตอร์ จ๊าค ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ และร้อยเอก โฮเวิร์ต ปาลเมอร์ และได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกันดังนี้ พื้นที่ทำงานร่วมกับอังกฤษ ได้แก่ อ่างทอง อยุธยา อุทัยธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุโขทัย ชัยภูมิ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชุมพร แพร่ เชียงราย พื้นที่ทำงานร่วมกันอเมริกา ได้แก่ ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม หนองคาย นครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี ตาก ลำปาง ทุกค่ายฝึกจะมีการฝึกการรบและการใช้อาวุธแบบใหม่ที่ทางพันธมิตรสายอเมริกาส่งมาให้
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดให้มีการต่อสู้ มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงปลายสงคราม
กล่าวได้ว่าขบวนการเสรีไทยแม้ตอนเริ่มต้นจะจำกัดอยู่ในหมู่คนจำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นนำ คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักเรียนนอกทั้งหลายที่อยู่ใกล้ชิดอำนาจรัฐ แต่ในตอนหลังสมาชิกของขบวนการได้เกิดการขยายตัวไปอย่างมากและกลายเป็นขบวนการที่มีผู้เข้าร่วมอย่างกว้างขวางในประชาชนทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ ข้าราชการ ครู ผู้นำชุมชน นักธุรกิจ พ่อค้า นักเรียนนักศึกษา กระทั่งชาวบ้านที่เป็นชาวไร่ชาวนา จนกลายเป็นขบวนการของมวลมหาชนไทยผู้รักชาติที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเอกราชของชาติจากการเข้าร่วมฝึกเป็นกองกำลังต่อสู้ด้วยอาวุธของเสรีไทยที่มีจำนวนมากในต่างจังหวัด ซึ่งประมาณการกันว่าสมาชิกเสรีไทยที่ได้รับการฝึกและมีอาวุธครบมืออาจมีถึง 45,000 ถึง 50,000 คน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ ที่จังหวัดสกลนครภายใต้การนำของนายเตียง ศิริขันธ์ มีพลพรรคที่ผ่านการฝึกแล้วถึง 3,500 คน จังหวัดมหาสารคามมีจำนวน 4,000 คน ชลบุรีจำนวน 2,000 คน จังหวัดอุบลราชธานีมีกำลังจำนวน 3,000 คน เป็นต้น[9] ขบวนการเสรีไทยจึงอาจจะเป็นเพียงขบวนการเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่ดึงเอาการมีส่วนร่วมของผู้คนได้กว้างขวางที่สุดในการทำงานเพื่อรับใช้ชาติด้วยความสมัครใจ
2. ขบวนการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา
ภายหลังจากทราบข่าวรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปทำสงคราม จากโทรเลขที่มาถึงสถานทูตไทยในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้รับคำสั่งให้ประกาศยอมแพ้และเผาเอกสารสำคัญทิ้ง แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลเพราะถือว่าเป็นรัฐบาลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น สถานทูตจะรับฟังเฉพาะคำสั่งของรัฐบาลที่ไม่ถูกแทรกแซงจากญี่ปุ่นเท่านั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ได้อ้างเหตุผลของการไม่ยอมรับคำสั่งรัฐบาลให้ยอมแพ้แก่ญี่ปุ่นไว้ 3 ประการคือ ประการแรกถ้าสหรัฐอเมริกาชนะสงครามสถานทูตจะสามารถต่อรองเพื่อเอกราชของชาติได้ ประการที่สองได้ยึดเอาพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2484 ที่กำหนดให้คนไทยต้องต่อสู้ผู้รุกรานทุกวิถีทาง ทั้งยังกำหนดไว้ด้วยว่าถ้าคนไทยไม่อยู่ในฐานะจะรับคำสั่งจากรัฐบาลก็ให้ดำเนินการต่อต้านไปโดยลำพัง และประการที่ 3 ความเชื่อในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เป็นเอกราชไม่ยอมตกเป็นทาสใครมาตลอด จึงประกาศไม่ยอมแพ้เพื่อเป็นหนทางให้คนไทยที่ต้องการร่วมต่อต้านผู้รุกรานได้มาทำงานร่วมกัน[10]
ต่อมาอีก 2 วันคือวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศจัดตั้งขบวนการเสรีไทยต่อหนังสือพิมพ์อเมริกัน โดยแถลงเป็นใจความว่า การที่รัฐบาลยอมแพ้ญี่ปุ่นไม่ใช่เป็นเจตนาของคนไทยส่วนใหญ่ จึงจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อร่วมมือกับสัมพันธมิตรต่อสู้ญี่ปุ่น และขอชักชวนให้คนทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมกับขบวนการนี้ด้วย[11] หลังจากนั้นในตอนค่ำก็ได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐอเมริกาให้ปราศรัยทางวิทยุคลื่นสั้นจากสหรัฐฯ ถึงประชาชนชาวไทยมีใจความว่าอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชจะยืนหยัดต่อสู้ในอเมริกาต่อไปเพื่อปลดปล่อยประเทศไทยให้กลับคืนมาซึ่งอิสรภาพของชาติไทย โดยมั่นใจว่าสหรัฐอเมริกาและสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะสงครามในที่สุด และขอเรียกร้องให้คนไทยทั้งชาติพร้อมใจกันกู้เอกราชและอธิปไตยจากผู้รุกราน [12]
จากนั้นอัครราชทูตจึงได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาทราบว่าสถานทูตไทยไม่ยอมรับรัฐบาลไทย เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจภายใต้อำนาจบงการของประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เป็นความเห็นชอบของประชาชนชาวไทย แต่กลับมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ต่อต้านญี่ปุ่น โดยทางข้าราชการสถานทูตจะขอใช้สถานทูตไทยในสหรัฐเพื่อต่อสู้กับศัตรูผู้รุกราน ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็อนุญาต จึงเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินงานของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแผนการจะใช้สถานทูตเป็นสถานที่หลักในการต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชอ้างว่าได้เตรียมการไว้ก่อนสงครามเกิดแล้ว เพราะมองว่าจะเป็นทางหนีทีไล่สำคัญของการรักษาเอกราชของชาติไทยได้ [13]
ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485 แต่ปรากฏว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชไม่ได้ยื่นเอกสารประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และแจ้งให้สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่า ได้เก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าเสื้อ ขณะเข้าพบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อว่าการประกาศสงครามของรัฐบาล มิได้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนไทย สหรัฐอเมริกาเลยไม่ได้ประกาศสงครามตอบเช่นกัน แม้ว่าในความจริงรัฐบาลไทยจะแจ้งการประกาศสงครามให้แก่กงสุลสวิตเซอร์แลนด์ที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบ ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและอเมริกา ซึ่งในทางการทูตถือว่าการประกาศสงครามสมบูรณ์แล้ว แต่รัฐบาลอเมริกาไม่รับรู้การประกาศสงครามของประเทศไทย เนื่องจากถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง กรณีนี้ยังผลให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมากจากการรับรองของสหรัฐฯ ในการเจรจาสถานะของไทยหลังสงคราม
เพื่อเป็นการตอบแทนทางการสหรัฐฯ ในความสนับสนุนต่อสถานทูตไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชได้ตกลงใจดำเนินการช่วยเหลือสหรัฐฯ ในการทำสงคราม 3 ด้านด้วยกันคือ การประชา สัมพันธ์ประเทศไทย ช่วยเหลือทางภารกิจด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และปฏิบัติการทางการทหารด้วยการจัดตั้งหน่วยทหารไทย ภายใต้กองทัพสหรัฐฯ ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานปฏิบัติการสงครามพิเศษที่ใช้ชื่อว่า “สำนักบริการทางยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Service: O.S.S.)” ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ซึ่งต่อมากลายเป็นหน่วยงานองค์การสืบสวนกลาง (Central Intelligence Agency: CIA) นั่นเอง
หลังประกาศสงครามกับสหรัฐฯ แล้วรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ข้าราชการและนักเรียนไทยในสหรัฐฯ เดินทางกลับประเทศด้วยการแลกเปลี่ยนเชลยกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะถือว่าคนไทยเป็นชนชาติศัตรู ถ้าไม่กลับก็จะถูกถอนสัญชาติไทย แต่ปรากฏว่ามีคนไทยเดินทางกลับเพียง 18 คน ยังเหลือข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยอยู่ในสหรัฐฯ และแคนาดาจำนวน 82 คน ซึ่งคนไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อปลดปล่อยประเทศไทยจากการยึดครองในนาม “ขบวนการเสรีไทย” ที่ได้ดำเนินการอย่างมีระบบแบบแผนของขบวนการชัดเจน
โดยในระยะแรกการแบ่งบทบาทหน้าที่ของคนไทยในสหรัฐอย่างเป็นทางการมีขึ้น ดังปรากฏเอกสารในหนังสือเวียนฉบับที่ 9 ของสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2485 ดังปรากฏการแบ่งงานออกเป็นแผนกต่างๆ 4 แผนกโดยมีอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจน กล่าวคือ
แผนกที่หนึ่ง หน้าที่ของข้าราชการสถานทูต ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต มีหน้าที่เจรจากับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านการเมือง ม.ล.ขาบ กุญชร มีหน้าที่เจรจากับเจ้าหน้าที่ด้านการทหาร หลวงดิษฐการภักดี มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน นายมณี สาณะเสน ร่างตรวจแก้เอกสารที่จะออกจากสถานทูต นายอนันต์ จินตกานนท์ พิมพ์และจเรทั่วไป
แผนกที่สอง ดำเนินงานทางการเมือง เป็นบทบาทของสถานทูตที่ต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลอเมริกันให้เข้าใจถึงสถานะของไทยที่ถูกยึดครอง และต้องคอยประสานให้ฝ่ายอเมริกันเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนไทยในสหรัฐฯ ได้ทำงานกู้ชาติ
แผนกที่สาม งานสร้างชาติใหม่ ก็คือการเรียกร้องให้คนไทยเสียสละรับใช้ชาติเพื่อกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติ ซึ่งต่อมาข้อนี้คือการจัดตั้งกองทหารเสรีไทยขึ้นนั่นเอง
แผนกที่สี่ งานช่วยเหลือร่วมมือของคนไทย ซึ่งก็คือความช่วยเหลือที่คนไทยได้ทำให้กับประเทศชาติทั้งการช่วยเงิน แรงงานและที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านการแสดงทางวัฒนธรรมและการกระจายเสียงทางวิทยุคลื่นสั้นเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยและปลุกระดมให้คนไทยกู้เอกราช และได้จัดทำบัญชีแสดงการได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยด้วย [14]
โดยหลังจากการประชุมร่วมกันของข้าราชการสถานทูตและนักเรียนไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 แล้ว ทุกฝ่ายที่เดิมเคยมีความคิดเห็นขัดแย้งไม่ลงรอยกันไม่ว่าจะเป็นระหว่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชอัครราชทูตกับ ม.ล. ขาบ กุญชร ทูตทหารประจำสถานทูต หรือกรณีที่นักเรียนไทยไม่ยอมรับฐานะของสถานทูตอย่างเด็ดขาด แต่ต้องการทำเพื่อชาติอย่างแท้จริงมากกว่า จึงได้หาทางออกร่วมกันว่าจะจัดตั้งองค์กรปลดปล่อยประเทศไทยให้เป็นเอกราชหลังสงคราม รวมทั้งจัดรูปแบบองค์กรขึ้นให้อยู่ในรูปของคณะกรรมการที่มีสถานทูตและนักเรียนไทยร่วมกันเป็นกรรมการ โดยให้อัครราชทูตเป็นประธานและข้าราชการสถานทูตทุกคนเป็นกรรมการและฝ่ายนักเรียนมีตัวแทนเป็นกรรมการสองคน โดยชุดแรกมีนายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายจก ณ ระนองเป็นกรรมการ มีข้อกำหนดเอาไว้ว่าการดำเนินการใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเสมอ และนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติที่ใช้ชื่อว่า "เสรีไทย (Free Thai)"[15] ซึ่งชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อเรียกขบวนการปลดปล่อยประเทศไทยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายต่อมา
และจากการประชุมดังกล่าวก็ได้จัดตั้งกองทหารเสรีไทยขึ้นจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา โดยกองกำลังทหารของเสรีไทยในกองทัพสหรัฐฯ นี้นับได้ว่าเป็นกองกำลังของไทยโดยแท้จริง เนื่องจากดำเนินงานโดยคนไทยทั้งหมดและใช้งบประมาณของสถานทูตที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้เบิกเงินสำรองที่ถูกกักไว้มาใช้ รวมทั้งชุดทหารที่มีธงชาติไทยและเขียนว่า "FREE THAI" กับเครื่องหมายชั้นยศประดับชุดทหารเป็นของตนเอง มีภารกิจทางการทหารที่แน่ชัดในการเข้าประเทศไทยเพื่อดำเนินการหาข่าวและแสวงความร่วมมือทางทหารเพื่อต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น โดยรับคำสั่งจากกองบังคับการกองบัญชาการ 404 (Detachment 404) ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาการของหน่วยกิจการยุทธศาสตร์ (O.S.S.) อีกทีหนึ่ง
กองกำลังเสรีไทยได้ฝึกภาคสนามวิชาการทหารเพื่อเตรียมความพร้อมในการไปปฏิบัติการในสนามรบเมืองไทย ทั้งวิชาการก่อจารกรรม การส่งข่าว กระโดดร่ม การต่อสู้และการใช้อาวุธจากหน่วยทหารสหรัฐฯ โดยกองกำลังเสรีไทยรุ่นแรกจำนวน 23 คน เริ่มเข้ารับการฝึกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2485 หลังจากนั้นเมื่อเสรีไทยในประเทศได้ออกมาติดต่อกับเสรีไทยนอกประเทศคือที่สหรัฐฯ ได้แล้ว ทหารเสรีไทยสายอเมริกาก็ทยอยเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติภารกิจในประเทศไทย
ในขณะที่กองกำลังเสรีไทยดำเนินการด้านทหารภายใต้การร่วมกันปฏิบัติงานกับทหารอเมริกันอย่างใกล้ชิด แต่การดำเนินงานของสถานทูตแยกออกไปอย่างชัดเจนไปปฏิบัติงานด้านการเมือง และเตรียมหาลู่ทางเจรจาให้ไทยพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม โดยการทำงานที่เรียกว่าสงครามจิตวิทยาด้วยการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับสัมพันธมิตร รวมทั้งการกระจายเสียงทางวิทยุกลับมายังประเทศไทยให้ทางคนไทยในประเทศรับรู้สถานการณ์สงคราม และคอยให้กำลังใจคนไทยรู้ว่ามีคณะกู้ชาติอยู่ไม่ให้สิ้นหวัง
3. เสรีไทยสายอังกฤษ
คนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมีปฏิกิริยาคล้ายกับคนไทยในอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย กล่าวคือนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษต่างไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และได้ประณามการกระทำของจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของกลุ่มคนไทยในอังกฤษก็คือบทบาทของสถานทูตไทยประเทศอังกฤษที่มี พระมนูเวทวิมลนาท (เบี๋ยน สุมาวงศ์) ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทย ได้ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลอย่างเต็มใจ รวมทั้งยังได้ห้ามปรามนักเรียนไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งของรัฐบาลอีกด้วย โดยพยายามให้ทุกคนเดินทางกลับประเทศไทยทันที
เมื่อปรากฏว่าสถานทูตไทยไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ นักเรียนและคนไทยในอังกฤษจึงได้ทำการต่อต้านรัฐบาลไปตามวิธีการของตน กลุ่มผู้ต่อต้านญี่ปุ่นในการยึดครองประเทศไทยในอังกฤษช่วงแรกจึงเกิดขึ้นกระจัดกระจายรวมตัวกันไม่ติด การทำงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลมากกว่า เช่น ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ที่ได้ติดต่อกับกองทัพอังกฤษเพื่อขอช่วยราชการทหารยามสงคราม ซึ่งทางอังกฤษก็ตอบรับให้มาทำหน้าที่ด้านการให้ข่าวและทำแผนที่ประเทศไทย เมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ วันที่ 25 มกราคม 248 และรัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามตอบในเวลาต่อมา ทำให้สถานภาพของคนไทยในตอนนั้นตกอยู่ในฐานะคนของชนชาติศัตรู จึงต้องหาทางออกด้วยการพยายามร่วมมือกับทางการอังกฤษ โดยในเดือนมีนาคม 2485 ทางกลุ่มนักเรียนไทยได้ส่งเสนาะ ตันบุญยืน เข้าพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ เพื่อแจ้งความจำนงว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษเป็นจำนวนมากต่อต้านญี่ปุ่นและต้องการช่วยเหลือทางการอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ จึงได้ทำหนังสือเสนอ นายวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อก่อตั้งกองทหารไทยสู้รบกับญี่ปุ่นในประเทศไทย
แต่การตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษเป็นไปด้วยความยุ่งยากเพราะไม่มีผู้ที่จะเป็นหัวหน้าได้เพราะผู้อาวุโสจะเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระเทือนกับการเมืองภายในประเทศ ส่วนนักเรียนด้วยกันเองก็ยังอยู่ในวัยใกล้เคียงกันจึงยากจะหาผู้ใดที่เป็นที่ยอมรับของคนทั้งหมด จึงทำให้ไม่สามารถตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นสำเร็จ ดังนั้นที่ประชุมนักเรียนไทยที่เค็มบริดจ์จึงมอบหมายให้นายเสนาะ ตันบุญยืนทำหนังสือไปขอความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันในเรื่องขบวนการเสรีไทยที่เข้มแข็งและจริงจัง ทางม.ร.ว.เสนีย์ให้คำตอบว่าจะช่วยเหลือเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2485 ในการนี้นายมณี สาณะเสน ในฐานะผู้ที่เคยทำงานในอังกฤษ ได้ถูกส่งมาให้ทำหน้าที่ช่วยรวบรวมคนให้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่นเนื่องจากเขาไม่เป็นที่รู้จักของนักเรียนไทยในอังกฤษมาก่อน แต่ก็ได้ใช้วิธีการออกจดหมายเชิญชวนให้สมัครเป็นกองกำลังเสรีไทย ปรากฏว่ามีคนไทยและนักเรียนไทยสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกองทัพอังกฤษจำนวน 50 คน ผ่านการคัดเลือกเป็นทหาร 36 คน ที่เหลือเป็นอาสาสมัครในแนวหลัง รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วย ก็ได้ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจกับเสรีไทยในอังกฤษด้วย
สาเหตุการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในอังกฤษนั้นมีหลากหลาย ดังที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในเสรีไทยได้เขียนถึงความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษไว้ว่า
เหล่าเสรีไทยในอังกฤษทั้งกว่า 50 คนนี้อาจจะอาสาสมัครเข้าเป็นเสรีไทยด้วยเหตุต่าง ๆ กัน ได้เคยมีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างที่สมัครเข้าใหม่ ๆ และระหว่างที่เดินทางหรือพักแรมในที่ต่างๆ บางคนก็ว่าสมัครเพื่อกู้ชาติ บางคนก็ว่าเพื่อเสรีภาพและความชอบธรรมแห่งชีวิต บางคนก็พูดไม่ออก นอกจากจะเห็นเป็นหน้าที่... อย่างไรก็ตาม พอจะพูดได้ว่าความมุ่งหมายร่วมกันของพวกเราได้ระบุไว้เด่นชัด ดังต่อไปนี้
1. พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษ มิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทย โดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ
2. คณะของเรามิต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ และไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดที่เป็นเสรีไทยภายในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น คณะของเราจะร่วมมือด้วยทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้ว คณะเสรีไทยอังกฤษก็จะสลายตัวไป
3. คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างผลความดีใด ๆ มาเรียกร้องแสวงประโยชน์ส่วนตัวในด้าน ลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด
4. คณะเสรีไทยอังกฤษได้แสดงให้ทางอังกฤษเห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรก ว่าคณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นพลทหารก็ยินยอม ทั้งนี้หมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชน ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานเป็นทหาร[16]
หลังจากรัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมให้คนไทยเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษแล้ว ก็ยังไม่ได้ไว้วางใจเสียทีเดียวได้มีการทดสอบความอดทนและจริงใจด้วยการฝึกอย่างหนักและให้ไปอยู่ในหน่วยการโยธาของกองทัพที่ทำงานบริการตั้งแต่ทำความสะอาดค่ายทหาร ล้างส้วม อยู่ยาม แบกกระสอบถ่านหิน ขุด ขนและปอกมันฝรั่ง ฯลฯ ในค่ายทหารทางเหนือของอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2485 เมื่อฝึกได้ราว 6 เดือนทหารกลุ่มนี้ก็ถูกส่งตัวให้ไปฝึกเพิ่มเติมเพื่อเตรียมตัวปฏิบัติงานในอินเดีย โดยออกเดินทางจากอังกฤษทางเรือไปถึงอินเดียขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์เมื่อวันที่ 27เมษายน พ.ศ. 2486
ในอินเดียพลทหารเสรีไทยทั้ง 36 คนได้ถูกคัดเลือกให้ไปปฏิบัติงานต่างๆ กัน อาทิ ไปประจำอยู่เดลฮีเพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงและรับข่าววิทยุจากประเทศไทย เข้าประจำหน่วยสืบราชการลับ หน่วยทำแผนที่ กลุ่มใหญ่จำนวน 22 คนถูกส่งไปฝึกการรบแบบกองโจร การล้วงความลับ การอยู่กินในป่า การรับส่งวิทยุ กลุ่มนี้สังกัดแผนกไทยของกองกำลัง 136 (Force 136) แห่งหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive-S.O.E) โดยทหารเสรีไทยฝึกสำเร็จได้ยศร้อยตรีแห่งกองทัพอังกฤษภายในเวลา 5 เดือนจำนวน 21 คนยกเว้นแค่หนึ่งคนที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ปกติจึงต้องไปทำงานรับส่งวิทยุ[17]
กล่าวได้ว่ากว่าเสรีไทยสายอังกฤษจะพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหารในการเข้าร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านในประเทศไทยก็ล่วงเข้าสู่ปลายปี พ.ศ. 2486 แล้ว โดยเสรีไทยสองคนแรกที่เข้าประเทศไทยคือ จุ๊นเคง รินทกุลและสวัสดิ์ ศรีสุขในหน่วยสืบราชการลับได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดพังงาเมื่อคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 โดยมีหน้าที่เพียงสืบสถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดภาคใต้เป็นเวลาเดือนเศษแล้วต้องกลับไปรายงาน แต่เกิดพลาดนัดกับเรือดำน้ำที่มารับเลยต้องตกอยู่ในเมืองไทยหลายเดือน จนในที่สุดจุ๊นเคงหาคนที่ไว้ใจได้พาเข้าพบ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส [18]
หลังจากนั้นนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษก็ทยอยเดินทางเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยหลายระลอก และกลายเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานของเสรีไทยในภายหลังอย่างมากโดยเฉพาะการข่าวและแผนยุทธศาสตร์ ทั้งนี้การปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้ยังเป็นผลดีทางการเมืองหลังสงครามในฐานเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายไทยต่อสัมพันธมิตร

การดำเนินงานร่วมกันของเสรีไทยทั้งภายในและนอกประเทศ

ในขณะที่การจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศกำลังดำเนินไปได้ดีนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจว่าจะต้องหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อทำความเข้าใจว่าการกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ผูกพันประชาชนชาวไทย ซึ่งมิได้เข้ากับญี่ปุ่นโดยสมัครใจ และเพื่อที่จะให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไทยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร เดิมทีเดียวนายปรีดีมีความประสงค์ที่จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเส้นทางผ่านพม่าถูกญี่ปุ่นควบคุมไว้ทั้งหมดแผนการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นจึงระงับไป แผนการต่อมาจึงต้องอาศัยการออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รู้ว่ามีฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ในประเทศที่พร้อมร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในเบื้องแรกนายปรีดีได้ขอให้เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ จัดส่งคนที่ไว้ใจได้ออกเดินทางไปเมืองจีนไปทางเหนือก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเส้นทางเป็นป่ารกชัฏเดินทางยากลำบากและมีไข้ป่าชุม ขณะเดียวกันญี่ปุ่นได้ควบคุมตรวจตราการเข้าออกประเทศไทยไว้ทุกจุด ดังนั้นตลอดปี 2485 นายปรีดีจึงไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ ได้เลย แม้กระทั่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สมัยที่นายดิเรก ชัยนาม ประจำอยู่ ก็ไม่สามารถจะติดต่อกับโลกภายนอกได้
ต้องรอถึงปีต่อมาการเดินทางออกมาติดต่อกับสัมพันธมิตรจากขบวนการต่อต้านภายในประเทศจึงประสบผลสำเร็จ เมื่อตัวแทนขบวนการต่อต้านภายในประเทศคือ นายจำกัด พลางกูรได้ออกเดินทางไปเมืองจีนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2486 ตามเส้นทางผ่านอินโดจีนไปถึงประเทศจีนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2486 สำหรับเหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลือกนายจำกัด พลางกูร คนหนุ่มวัยเพียง 27 ปี บัณฑิตเกียรตินิยมจากบัลลิโอลคอลเลจ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หนึ่งในจำนวนสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านภายในประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้จัก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นส่วนตัว และมีน้องชายร่วมสายโลหิตกำลังศึกษาอยู่ทั้งในอังกฤษคือนายกำแหง พลางกูร และในสหรัฐฯ คือ นายบรรเจิด พลางกูรที่เป็นเสรีไทยทั้งคู่ ถึงแม้ว่านายจำกัดจะมีอายุน้อยและมิได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานทางราชการเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่จะหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมบัติยิ่งไปกว่าเขาได้ยาก เพราะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคนที่เป็นที่รู้จักจะถูกญี่ปุ่นจับตามองจนยากเคลื่อนไหว ด้วยเหตุนี้นายปรีดี พนมยงค์ จึงเลือกส่งนายจำกัด[19]
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานของนายจำกัด พลางกูรเมื่อเดินทางไปถึงเมืองจีนแล้วก็ต้องประสบกับปัญหาใหญ่หลวง เพราะทางการจีนเองไม่ไว้วางใจและหาคนรับรองสถานะไม่ได้ จึงถูกทางการจีนกักตัวไว้นานไม่ให้ติดต่อกับสัมพันธมิตรทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่การส่งข่าวกลับเมืองไทย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจกันเองระหว่างพันธมิตรทั้งสามคือจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทางการจีนได้กักตัวไว้เป็นเวลานานไม่ให้ติดต่อกับใคร แม้แต่กับเสรีไทยสายอเมริกาที่ทราบว่าจำกัดมาถึงจีนแล้วก็ไม่ได้ติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามภารกิจของจำกัดที่ถือว่ามีประโยชน์มากก็คือการส่งข่าวให้สัมพันธมิตรทราบว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นภายในประเทศ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าและพร้อมจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
จึงทำให้ทางขบวนการต่อต้านภายในประเทศต้องส่งผู้แทนคณะที่สองออกตามไป เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 นำโดยนายสงวน ตุลารักษ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบพร้อมทั้งครอบครัวและนายแดง คุณะดิลกที่ไปในภารกิจบังหน้าคือการไปซื้อวัตถุดิบมาป้อนโรงงานผลิตยาสูบ แท้ที่จริงแล้วเป็นการเดินทางไปในฐานะทูตของเสรีไทยในประเทศเพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพราะมีคนรับรองสถานะชัดเจน ต่อมาจึงได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อประสานงานกับสถานทูตไทยในอเมริกา และทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเชื่อว่ามีขบวนการต่อต้านภายในประเทศมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และการติดต่อของคณะที่สองนี่เองที่ทำให้ทางเสรีไทยนอกประเทศได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการต่อต้านภายในประเทศอย่างชัดเจนมากขึ้น และเกิดความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกันขึ้นระหว่างเสรีไทยกับสัมพันธมิตร ต่อจากนั้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2487 ยังได้ส่งตัวแทนคณะที่สามออกมานำโดยนายถวิล อุดลเป็นคณะสุดท้ายเพื่อนำสาส์นจากจากนายปรีดีไปถึงจอมพลเจียงไคเช็คผู้นำของจีนเพื่อตอกย้ำถึงความพร้อมและความตั้งใจจริงของเสรีไทยในประเทศให้สัมพันธมิตรยิ่งมั่นใจ

การเดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศของเสรีไทย

การปฏิบัติการด้านการทหารในประเทศไทยของสมาชิกเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นเมื่อพันธมิตรเริ่มได้เปรียบในสถานการณ์สงครามทางยุโรปและเอเชียแปซิฟิคในปลายปี พ.ศ. 2486 ประกอบกับการติดต่อกันได้ของเสรีไทยภายในและนอกประเทศ จึงทำให้ทางสัมพันธมิตรส่งทหารเสรีไทยเข้ามาปฏิบัติการในประเทศเพื่อหาข่าวและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับญี่ปุ่นในประเทศไทยร่วมกันกับเสรีไทยในประเทศ ในการนี้เสรีไทยสายอังกฤษได้เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2487 โดยเริ่มประสบความสำเร็จจากปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 1 ซึ่งมีสมาชิกคือ ร.ต. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ร.ต.ประทาน เปรมโกมล และร.ต.เปรม บุรี กระโดดร่มลงที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2487 และปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น 2 ที่มี ร.ต. สำราญ วรรณพฤกษ์ ร.ต.ธนา โปษยานนท์ และ ร.ต.รจิต บุรีกระโดดร่มลงที่นครสวรรค์ในวันที่ 3 เมษายน โดยกองกำลัง 136 มอบหมายให้ ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการแอพพรีซิเอชั่น ภายหลังจากปฏิบัติการพริชาร์ด ซึ่งก็มี ร.ต. ป๋วยเป็นหัวหน้าชุดเช่นกันได้ถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2486 เพราะไม่มีเสรีไทยในประเทศมาคอยรับผู้ปฏิบัติงานจากเรือดำน้ำที่ชายฝั่งแถบจังหวัดพังงาตามที่นัดแนะกัน
ส่วนเหตุผลที่ ร.ต. ป๋วยได้ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าชุด ก็มิใช่เพียงว่าเป็นผู้อาวุโสและมีบุคลิกเป็นผู้นำเท่านั้น แต่เนื่องจาก ร.ต. ป๋วยเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกและเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การอยู่ และเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการคลัง ซึ่งมีนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ นายปรีดีได้เคยรู้จัก ร.ต. ป๋วยมาบ้างจากการเรียนได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และนายปรีดีส่งโทรเลขไปแสดงความยินดี[20]
เมื่อนายปรีดีได้รับรายงานว่านายป๋วย อึ๊งภากรณ์ถูกตำรวจนำไปอารักขาไว้ที่สันติบาล ก็ได้ให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ ซึ่งเป็นเลขาธิการของกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศด้วย หาทางติดต่อกับ ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายตำรวจผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบรรดาเสรีไทยที่เล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทย ให้หาวิธีนำตัว ร.ต. ป๋วยมาพบที่บ้านของนายวิจิตรที่บางเขน ร.ต.อ. โพยม และ ร.ต. ป๋วยเป็นอัสสัมชนิกด้วยกัน ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ร.ต. ป๋วยก็ได้พบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้โดยอธิบดีกรมตำรวจไม่ทราบ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสาส์นจากลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มามอบให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ มีเนื้อหาเป็นการให้กำลังใจและเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารโดยให้มีการติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2487 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณสี่เดือนเต็ม นั้น คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษทั้ง 6 นาย และอีกสองนายที่เข้าประเทศไทยทางเรือดำน้ำที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงามาก่อนแล้วตั้งแต่ปลายปี 2486 ทั้ง 8 คนอยู่ในความอารักขาของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรองนายกรัฐมนตรี โดยมิได้ปฏิบัติงานใด ๆ และเครื่องรับส่งวิทยุที่เอาเข้ามาด้วยทางตำรวจก็เก็บเอาไปและไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะเดียวกันทางกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตามีความหวังอย่างยิ่งว่าชุดเสรีไทยภายใต้การนำของ ร.ต. ป๋วยจะสามารถประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ด้วยเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่ติดตัวเข้าไปด้วย คณะแอพพรีซิเอชั่นจะสามารถส่งข่าวออกมาจากประเทศไทยได้ แต่จนแล้วจนรอดคณะดังกล่าวก็มิได้ส่งข่าวใด ๆ ออกไปให้ทางกัลกัตตาได้ทราบตลอดเวลา 5เดือน ต้องรอจนกระทั่งกลางเดือนสิงหาคม 2487 จึงมีสายลับนำสารของ ร.ต. ป๋วยที่เขียนไว้เป็นรหัสที่ต้องถอดออกตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ไปถึงกัลกัตตา ซึ่งเป็นข่าวจากกรุงเทพฯ ชิ้นแรกที่แผนกประเทศสยามของกองกำลัง 136 ได้รับ ในสารนั้น ร.ต. ป๋วยได้รายงานว่าทุกคนปลอดภัยและกำลังอยู่ในความอารักขาของตำรวจสันติบาล ตลอดจนให้กัลกัตตาคอยรับฟังสัญญาณทางวิทยุที่จะส่งออกมา
เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2487 โดยเป็นรัฐบาลที่มีนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยอยู่เบื้องหลัง คณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษซึ่งมี ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นหัวหน้าชุด ก็ได้รับอนุญาตให้ส่งวิทยุติดต่อกับฐานทัพที่อินเดียได้ โดยในช่วงแรกการรับส่งวิทยุต้องกระทำโดยปกปิดมิให้ พล.ต.อ. อดุลที่ยังมิได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยทราบ ในที่สุดสถานีวิทยุเจบีเจของ ร.ต. ป๋วยก็สามารถติดต่อกับกัลกัตตาและแคนดีได้ในราวกลางเดือนสิงหาคม 2487 ซึ่งหมายถึงการเชื่อมกิจการเสรีไทยภายในประเทศกับปฏิบัติการของกองกำลัง 136 แผนกประเทศสยามได้เป็นครั้งแรก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2487 นายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถติดต่อกับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรได้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 กันยายน 2487 ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ พร้อมด้วยสาส์นของลอร์ด เมานท์แบตเทนและสัมภาระ ก็ได้กระโดดร่มลงที่บริเวณหัวหิน-ปราณบุรี โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบให้นายชาญ บุนนาค และหลวงบรรณกรโกวิทไปจัดการรับเข้ากรุงเทพฯ ทั้งนี้โดยทาง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ไม่ทราบเช่นกัน
กล่าวได้ว่าช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ตั้งแต่เริ่มสงคราม การดำเนินงานของเสรีไทยทั้งสามกลุ่มไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะขาดการประสานงานร่วมกัน และต้องดำเนินงานอย่างระวังเพราะรัฐบาลยังให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ความร่วมมือระหว่างกันก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะแถลงนโยบายร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิด ตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นบุคคลระดับหัวหน้าในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น และคอยให้ความช่วยเหลือองค์การอย่างลับๆ อาทิ นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

การประสานรวมเป็นหนึ่งของเสรีไทย

การดำเนินงานของเสรีไทยที่ประสานกันอย่างใกล้ชิดทั้งภายในภายนอก อันส่งผลให้การทำงานของเสรีไทยภายในประเทศเป็นไปโดยสะดวกมากขึ้นนั้น เกิดขึ้นหลังจากการเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยอย่างเต็มตัวของพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจผู้มีอิทธิพลกว้างขวาง ทั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นข้อเสนอจากทางสหรัฐผ่านนายทหารเสรีไทยคือ ร.ต. วิมลย์ วิริยวิทย์ ที่กระโดดร่มเข้ามาเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2487 และได้เข้าพบทั้งพล.ต.อ. อดุล และนายปรีดีเมื่อวันที่ 22 กันยายนพ.ศ. 2487 พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่าสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการเสรีไทยในทุกรูปแบบ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเมืองเพื่อไม่ให้ไทยตกเป็นผู้แพ้สงครามหลังสงครามยุติลงด้วย โดยขอให้อธิบดีตำรวจร่วมมือกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ เพื่อความสะดวกและมีกองกำลังเป็นปึกแผ่นของตำรวจในการปฏิบัติงาน ซึ่งก็ได้การรับรองในทันที ดังนั้นตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2487[21] เป็นต้นมาการประสานงานติดต่อกันระหว่างเสรีไทยภายในและนอกประเทศก็เป็นไปอย่างใกล้ชิดและก่อให้เกิดการดำเนินงานที่ก้าวหน้ามากขึ้นของเสรีไทย
ทั้งนี้การเริ่มต้นปฏิบัติการเข้าประเทศของเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นช้ากว่าทางอังกฤษ เพราะต้องไปเสียเวลาอยู่ที่จีนตั้งแต่ต้นปี 2486 แล้วไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ต้องรอจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2487 ทหารเสรีไทยสายอเมริกาจึงประสบความสำเร็จในการเดินทางเข้าประเทศ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เช่นเดียวกับเสรีไทยสายอังกฤษเพราะถูกตำรวจควบคุมตัว จนกระทั่งปฏิบัติการฮ็อทฟู้ทของวิมล วิริยวิทย์และบุญมาก เทศบุตรประสบความสำเร็จในการประสานให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของเสรีไทยในประเทศเมื่ออธิบดีกรมตำรวจเข้าร่วมด้วย ทางโอ.เอส.เอส. จึงได้รับรายงานข่าวกรองจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2487 หลังจากฝ่ายอังกฤษสองเดือน แต่หลังจากเริ่มเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยได้แล้ว ทางฝ่ายสหรัฐอเมริกามีความรวดเร็วกว่าในด้านการวางแผนและลงมือปฏิบัติการที่ล่วงหน้าฝ่ายอังกฤษไปก่อนเกือบทุกอย่าง
อย่างไรก็ตามการติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเสรีไทยในประเทศและสัมพันธมิตรทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างใกล้ชิดกันและมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย ต่อมาทางสัมพันธมิตรได้ตัดสินใจส่งทหารของตนเองเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อความสะดวกในการประสานและปรึกษาหารือกับนายปรีดีโดยตรง และเพื่อจะได้ศึกษาสภาพต่างๆ ในประเทศไทยด้วย รวมทั้งการตั้งกองบัญชาการประสานงานขึ้นในกรุงเทพฯ โดยเริ่มจากกองกำลังโอ.เอส.เอส. ของอเมริกาที่ได้วางแผนปฏิบัติการไซเรนขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 และต่อมาอีกกว่าสามเดือนคือเดือนเมษายนทางอังกฤษจึงได้ตั้งกองบัญชาการของตนเองขึ้นด้วย ตั้งแต่นั้นมาการดำเนินงานของเสรีไทยจึงอยู่ภายใต้ความสนับสนุนของสัมพันธมิตรอย่างใกล้ชิดจนจบสงคราม นับเป็นการลงมือปฏิบัติงานด้านการทหารที่เห็นเป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่งด้วย
ตั้งแต่ต้นปี 2488 เป็นต้นมา กองกำลังเสรีไทยที่มีเครือข่ายความร่วมมือในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบจากความช่วยเหลือของสัมพันธมิตร ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และนายทหารผู้ทำการฝึกรบ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ส่งหน่วยปฏิบัติการมาประจำในกรุงเทพฯ และปรึกษาหารือการวางแผนปฏิบัติการกับหัวหน้าเสรีไทยตลอดสงคราม ด้านฝ่ายไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งทหารไปประจำที่กองบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา พร้อมกับส่งทหาร ตำรวจ และพลเรือนไปรับการฝึกกับ หน่วย โอ.เอส.เอส. ของสหรัฐอเมริกา และกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ในอินเดียและศรีลังกาหลายคณะ ก่อนจะกลับมาเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหารในประเทศไทย

ผลงานขบวนการเสรีไทยในการรักษาเอกราชของชาติ

แม้ว่าท้ายที่สุดการปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นดำเนินการโดยกองกำลังสัมพันธมิตร แม้ว่าไทยจะร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งอาจจะต้องถูกปลดอาวุธและถูกยึดครองในฐานะผู้แพ้สงคราม แต่ปรากฏว่าในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ และอังกฤษตลอดจนการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งปวงผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง การประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับนานาประเทศเหมือนเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
การประกาศสันติภาพนี้ได้ดำเนินการตามโทรเลขให้คำแนะนำจากจอมพลเรือลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษให้แจ้งแก่นายปรีดีว่าถ้าหากกระทำตามคำแนะนำของเมาน์ทแบทเตนแล้ว อังกฤษก็พร้อมที่จะไม่บังคับให้ไทยต้องยอมจำนนอย่างปราศจากเงื่อนไข ดุจเดียวกับการปฏิบัติต่อประเทศผู้แพ้สงคราม[22] ทั้งหมดนี้คือผลสำเร็จโดยสมบูรณ์ของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ นั่นคือไทยไม่เสียเอกราชและอธิปไตย ไม่ต้องยอมจำนน ไม่ต้องวางอาวุธ และไม่ต้องถูกยึดครอง สำหรับการที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งการต้องคืนดินแดนที่ญี่ปุ่นมอบให้ทั้งทางด้านมลายูและทางด้านสหรัฐไทยใหญ่ ก็ต้องถือเป็นเรื่องที่สมควร เพราะความเสียหายของสัมพันธมิตรก็ดี และดินแดนที่ไทยได้มาระหว่างสงครามก็ดี เป็นผลจากการที่ไทยเข้าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่มีน้ำหนักที่สุดที่ทำให้ไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่นคือปฏิบัติการที่ได้รับความร่วมมืออย่างลับ ๆ ของเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรในด้านการทหาร ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ โดยสหรัฐอเมริกาถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน เพราะทางเอกอัครราชทูตไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐบาลและไม่ได้ยื่นจดหมายประกาศสงครามให้กับฝ่ายอเมริกา การดำเนินงานของเสรีไทยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สัมพันธมิตรคืออเมริกาสนับสนุนไม่ให้ไทยต้องแพ้สงคราม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเมืองระหว่างประเทศที่อเมริกาต้องการเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคเอเชียแทนอังกฤษและชาติในยุโรปที่เสียหายจากสงครามมาก จนไม่สามารถรักษาอาณานิคมอยู่ได้จนเป็นการสิ้นสุดยุคอาณานิคม โดยมีสหรัฐอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจของโลกแทน
ขณะที่อังกฤษดำเนินนโยบายต่อไทยแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา ถือว่าไทยแพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษ รวมทั้งถูกปฏิบัติเหมือนผู้แพ้สงครามก็คือต้องมีการปลดอาวุธทหาร แต่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้แสดงเจตนาชัดเจนตามกฎบัตรแอตแลนติกที่ต้องการให้อังกฤษปรับท่าทีให้ผ่อนปรนกับประเทศไทย โดยจะต้องคงความเป็นอธิปไตยและเอกราชเอาไว้ โดยหลังสงครามไทยได้เจรจายุติสงครามกับอังกฤษและต้องตกลงทำสัญญาชดใช้ค่าเสียหายแก่อังกฤษ โดยหลักคือไทยต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าวจำนวนมาก[23] จนทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนข้าวภายในประเทศจนเป็นปัญหาการเมืองภายในต่อมา

ผลกระทบของเสรีไทยต่อการเมืองในประเทศ

การเกิดขึ้นของขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนได้ทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองภายในประเทศเปลี่ยนไปจากคณะทหาร มาอยู่ในสายของพลเรือนและทหารเรือที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยของนายปรีดี ทำให้ฝ่ายปรีดีมีอำนาจทางการเมืองเข้มแข็งขึ้นหลังสงคราม นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายจอมพล ป.และฝ่ายปรีดีก็ชัดเจนขึ้นจนยากจะประสานในหมู่ผู้นำคณะราษฎรตั้งแต่การตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[24] โดยเฉพาะหลังสงครามสงบและทางฝ่ายเสรีไทยสามารถเจรจาตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยที่ประเทศไทยไม่ต้องเสียเอกราชและไม่ต้องถูกบังคับชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามมากเท่าที่คิด ทำให้เกียรติภูมิทางการเมืองของฝ่ายนายปรีดีและพลพรรคเสรีไทย เหนือกว่าจอมพล ป. และฝ่ายทหารบกที่ต้องตกเป็นอาชญากรสงคราม
แต่ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองหลังจากกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว อันเป็นการรวมตัวกันของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้พยามกำจัดนายปรีดีและผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สายพลเรือนและคณะเสรีไทยออกจากวงจรการเมือง และหลังจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งนำโดยคณะทหารที่นิยมจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงเป็นการหวนคืนสู่อำนาจของคณะผู้ก่อการสายทหารของคณะราษฎรอันเป็นชัยชนะที่ปิดประตูการกลับมาของนายปรีดีและเสรีไทยไปโดยปริยาย แต่รัฐบาลของจอมพล ป. เองในระยะแรกก็มีความกลัวเกรงต่อเสรีไทยอยู่มากและพยายามสลายอำนาจของเสรีไทยทุกรูปแบบจนประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับเสรีไทยเกือบเลือนหายไปพร้อมกับนายปรีดี พนมยงค์ในช่วงเผด็จการทหารครองเมือง ก่อนจะกลับมาถูกพูดถึงและได้รับการเชิดชูอีกครั้งหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ที่มา

กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. บทบาททางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม. ใน บันทึกการสัมมนาจอมพล ป. พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, 2540.
กอบเกื้อ สุวรรทัต-เพียร. นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532.
กิลคริสต์, เซอร์ แอนดรูว์ เขียน. ดุสิต บุญธรรม แปล. ลับสุดยอด: เสรีไทยจากอังกฤษ. กรุงเทพฯ: สันติภาพ, 2527.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2536.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. บันทึกการสัมมนา จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2540.
ดิเรก ชัยนาม. ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2510.
แถมสุข นุ่มนนท์. ฟื้นอดีต. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์. 2522.
แถมสุข นุ่นนนท์. เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2544.
ทศ พันธุมเสน. กบฏกู้ชาติ. กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2531ทศ พันธุมเสนและจินตนา ยศสุนทร. จากมหาสงครามสู่สันติภาพ. กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530.
ทวี จุลละทรัพย์. ชาติอยู่เหนือสิ่งอื่นใด. กรุงเทพฯ: วรวุฒิการพิมพ์, 2517.
ทวี บุณยเกตุ. ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยในระหว่างสงครามฯ. ใน เบื้องแรกประชาธิปไตย. มิตรนราการพิมพ์, 2516.
นายฉันทนา (นามแฝง-มาลัย ชูพินิจ). XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย. กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522.
ปรีดี พนมยงค์. การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย. ใน ปรีดีกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.
ป๋วย อึ้งภากรณ์, “ทหารชั่วคราว”, ใน เบื้องแรกประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, 2516.
พิศาลสุขุมวิท, พระ (ประสบ สุขุม). จดหมายเหตุของเสรีไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2522.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์. เสรีไทยวีรกรรมกู้ชาติ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2542.
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546.
วิมล วิริยะวิทย์. เสรีไทย: ประวัติการทำงานจากบทสัมภาษณ์ บันทึกและเอกสารของทางการสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2542
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ). เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546.
ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (หม่อมเจ้า). บันทึกลับของพันโทอรุณ เสรีไทย ๑๓๖. กรุงเทพฯ:คณะกรรมการจัดงานวันสันติภาพ, 2538.
สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.
เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., ชุมนุมวรรณคดีทางการเมือง. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2511.
เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, 2548.
สมิธ, นิคอล และ เบลค คลาค เขียน. ส.ส. สุวงศ์ แปล. เสรีไทยจากต่างประเทศ สู่สยามประเทศใต้ดิน. พระนคร: ไทยเขษม, 2490.
สุพจน์ ด่านตระกูล. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยและการต่อต้านญี่ปุ่น. นนทบุรี: สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2533.
อัญชลี สุขดี. “ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488)” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

อ้างอิง

  1. ดูรายละเอียดใน แถมสุข นุ่มนนท์. ฟื้นอดีต. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์. 2522, หน้า 133-134; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2536.
  2. ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2510, หน้า 106-112.
  3. กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร. “บทบาททางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม”. ใน บันทึกการสัมมนาจอมพล ป. พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, 2540, หน้า 79.
  4. ปรีดี พนมยงค์.”การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย”, ใน ปรีดีกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526. หน้า 98.
  5. ปรีดี พนมยงค์.”การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย”, หน้า 105.
  6. ปรีดี พนมยงค์.”การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย”, หน้า 99.
  7. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์, เสรีไทยวีรกรรมกู้ชาติ, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2542, หน้า 86.
  8. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ). เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546, หน้า 126-130.
  9. ดูรายละเอียดจาก นายฉันทนา (นามแฝง-มาลัย ชูพินิจ), XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย, กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522. หน้า 288-9, 312.
  10. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2”, ใน ชุมนุมวรรณคดีทางการเมือง, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2511. หน้า 192-3.
  11. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, กรุงเทพฯ: มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548, หน้า 75.
  12. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์, ตำนานเสรีไทย, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546, หน้า 172.
  13. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, กรุงเทพฯ: มูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548, หน้า 75.
  14. ดูรายละเอียดต้นฉบับหนังสือเวียนฉบับนี้ได้ใน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการ). เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546, หน้า 80-92.
  15. ดู วิมล วิริยะวิทย์, เสรีไทย: ประวัติการทำงานจากบทสัมภาษณ์ บันทึกและเอกสารของทางการสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2542, หน้า 2.
  16. ป๋วย อึ้งภากรณ์, “ทหารชั่วคราว”, ใน เบื้องแรกประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, 2516, หน้า 347-8.
  17. ทศ พันธุมเสนและจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530. หน้า 101.
  18. ทศ พันธุมเสนและจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530. หน้า 104-105.
  19. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์, ตำนานเสรีไทย, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546, หน้า 114.
  20. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์, ตำนานเสรีไทย, หน้า 284.
  21. วิมล วิริยะวิทย์, เสรีไทย: ประวัติการทำงานจากบทสัมภาษณ์ บันทึกและเอกสารของทางการสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2542, หน้า 22.
  22. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์, ตำนานเสรีไทย, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546, หน้า167-168.
  23. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. “รายงานการเจรจาระงับสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่”, ใน ชุมนุมวรรณคดีทางการเมือง, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2511. หน้า 1-51.
  24. สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2481-2492. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น