วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"นาซ่า"เปิดข้อมูล ภาพ"ดวงจันทร์"หดตัว!


ถือเป็นข่าวคราวฮือฮาในแวดวงดาราศาสตร์โลกไม่น้อย เมื่อมีข้อมูลใหม่ล่าสุดจากยาน "แอลอาร์โอ" ยืนยันว่า "ดวงจันทร์" ดาวบริวารของโลกมนุษย์เรา มีขนาด "หดตัว" เล็กลง ส่วนจะหดเล็กลงขนาดไหน อย่างไร เพราะเหตุใด "นาซ่า" ในฐานะเจ้าของยานแอลอาร์โอดังกล่าว มีคำตอบ





ยานโคจรสำรวจดวงจันทร์ "แอลอาร์โอ" ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศ สหรัฐอเมริกา มีชื่อเต็มยศ ว่า

ลูนาร์ รีคอนเนสเซนซ์ ออร์บิเตอร์

และผลจากการนำข้อมูล "ภาพถ่าย" แอลอาร์โอ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลภารกิจสำรวจดวงจันทร์ต่างกรรมต่างวาระตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์นาซ่า รวมถึงพันธมิตรในวงการดาราศาสตร์ พบหลักฐานใหม่ ว่า

พื้นผิวบริเวณเปลือกของดวงจันทร์ได้เกิดรอยแตก หรือรอยเลื่อนปรากฏขึ้นมา

ทำให้ผิวดวงจันทร์เกิด "รอยย่น" พร้อมๆ กับ "หดตัว"

กระเถิบหดตัวเข้ามาใกล้พื้นผิวบริเวณจุดศูนย์กลางมากกว่าเดิมราว 1 สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน หรือราวๆ 300 ฟุต

ไมเคิล วาร์โก หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์แผนกสำรวจดวงจันทร์ ของนาซ่า บอกว่า

ในเชิงทฤษฎีเชื่อกันว่า เปลือกและผิวดวงจันทร์หยุดการเคลื่อนตัว หรือหยุดการเคลื่อนไหวทางโครงสร้างมานานหลายพันล้านปี

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เปลือกดวงจันทร์นั้น "ตายสนิท" สงบนิ่งไปเรียบร้อยแล้ว

แต่การค้นพบครั้งใหม่นี้ โดยยานแอลอาร์โอ ทำให้นาซ่าแปลกประหลาดใจอย่างมาก

ทั้งยังช่วยเปลี่ยน "มุมมอง" ทางธรณีวิทยา ที่มีต่อดวงจันทร์อย่างสิ้นเชิง!

"เราเคยคิดว่าดวงจันทร์ตายไปแล้วและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ตอนนี้เรากลับพบว่ามันมีพลวัตใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน" วาร์โก กล่าว

1.ภาพจำลองลักษณะรอยเลื่อนของดวงจันทร์
2.สภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ เมื่อมองจากกล้องบนยานแอลอาร์โอ
3.ภาพตัวอย่างรอยเลื่อน ซึ่งพาดผ่านหลุมบนดวงจันทร์
4.รอยแตก หรือรอบเลื่อนใหม่บนดวงจันทร์ ที่พบโดยยานแอลอาร์โอ
5.ภาพจำลองการตั้งฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ของนาซ่า
6.ภาพถ่ายดวงจันทร์


ด้าน ดร.โธมัส วัตเตอร์ส จากศูนย์ศึกษาโลกและดาวเคราะห์ พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติ สมิธโซเนียน ของสหรัฐ หนึ่งในคณะศึกษาข้อมูลใหม่ดังกล่าว ระบุว่า

สภาพแวดล้อมของดวงจันทร์เริ่ม ต้นจากการถูกอุก กาบาต และดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจำนวนนับไม่ถ้วน

การพุ่งชนนี้ เมื่อประกอบกับการเสื่อมสลายของรังสีต่างๆ ทำให้พระ จันทร์ "ร้อนจัด"

จากนั้นจึงค่อยๆ สงบเย็นลงไปตามกาลเวลา ซึ่งในช่วงนั้นเอง เปลือก-ผิวของมันก็ค่อยๆ หดตัวลงไปจนหยุดนิ่ง กลายเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระ

อย่างไรก็ตาม ภาพใหม่ล่าสุดจากกล้องบนยานแอลอาร์โอ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของ "เนินชัน" หรือ "ผาชัน" ซึ่งเกิดขึ้นไม่ไกลจากฝั่งตะวันตกของจุดลงจอดยานอวกาศในโครงการ "อพอลโล 17" ในอดีต

โดยเนินชันที่ว่านี้...ถ้าเปรียบกับลักษณะธรณีวิทยาบนพื้นโลก ก็คือ

รอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ "ขบ" บดเกยทับซ้อนกัน ซึ่งส่งผลให้เปลือกดวงจันทร์ขยับตัวบีบเข้ามาชิดกันมากขึ้นนั่นเอง

แต่ดร.วัตเตอร์ส ย้ำด้วยว่า จากการ วิเคราะห์ขั้นต้น คาดว่าเนินชันที่พบในภาพถ่ายของยานแอลอาร์โอ น่าจะมีอายุหรือเกิดขึ้นมาในห้วงเวลาไม่กี่ร้อยล้านปี ไปจนถึงประมาณ 1 พันล้านปีก่อน

เพียงแต่เทคโนโลยีของมนุษย์เพิ่งไปค้นพบ

"ผลลัพธ์จากการค้นพบอันน่าตื่นเต้นครั้งนี้ ยิ่งทำให้เราต้องเพิ่มความสำคัญกับการเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของโลก

"นอกจากนั้น ยิ่งเราใช้ภารกิจแอลอาร์โอศึกษาลงลึกในรายละเอียดจนชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ประวัติศาสตร์การถือกำเนิดของดวงจันทร์ รวมถึงระบบสุริยะมากขึ้นเท่านั้น"


ดร.จอห์น เคลเลอร์ รองผู้ควบคุมโครงการแอลอาร์โอ ประจำศูนย์การบินอวกาศก๊อดดาร์ดของนาซ่า กล่าว

สำหรับร่องรอยเนินชัน หรือรอยเลื่อนใหม่ที่ยานแอลอาร์โอจับภาพได้นั้น มีขนาดไม่ใหญ่ไม่โตอะไรมากนัก

โดยสูงประมาณ 300 ฟุต และขยายตัวกินรัศมีราวๆ 2-3 ไมล์

ด้านดร.วัตเตอร์ เสริมว่า รอยย่น-รอยแตกแบบเดียวกันนี้ พบมากบนผิว "ดาวพุธ"

แต่บนดาวพุธนั้นจะมีขนาดสูงชันหรือกินพื้นที่ยาวกว่าที่พบบนดวงจันทร์มาก

ส่วน "ที่มา" รอยแตกล่าสุดในเปลือกดวงจันทร์นั้น มีหลายสมมติฐานด้วยกัน เช่น

1. เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว

2. เกิดขึ้นเพราะพระจันทร์ถูกอุกกาบาตชน

3. เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศช่วงกลางวัน-กลางคืน ที่แตกต่างกันสุดขั้ว

และ 4. เป็นผลจากแรงดึงดูดของโลก แต่มีความเป็นไปได้น้อย

ขั้นตอนต่อไป คณะทำงานนาซ่ามีแผนเปรียบเทียบภาพต่างๆ จากยานแอลอาร์โออย่างละเอียด

เพื่อดูว่าในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่ต่อไป



ลึก-แต่ไม่ลับ

รวมเรื่องน่ารู้"ดวงจันทร์"


1. ดวงจันทร์มีอายุประมาณ 4.5 พันล้านปี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร อุณหภูมิกลางวัน 130 องศา เซลเซียส อุณหภูมิด้านกลางคืน -170 องศา เซลเซียส

2. พื้นที่บนพื้นผิวดวงจันทร์ส่วนที่หันหน้าเข้าหา "โลกมนุษย์" นั้นจะเป็นจุดเดียวกันเสมอ

3. วงโคจรดวงจันทร์จะค่อยๆ ถอยห่างจากโลก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเทียบกับยุคต้นๆ ของโลกนั้น ถ้าเรามองขึ้นไปบนฟ้าจะเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่าปัจจุบันประมาณ 3 เท่า

4. บนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ จึงไม่มี "ลม" หรือการสึกกร่อนของพื้นผิว

พื้นผิวบนดวงจันทร์ทุกวันนี้มีสภาพคล้าย คลึงกับเมื่อ 3-4 พันล้านปีก่อนมาก

รอยเท้ามนุษย์อวกาศสหรัฐที่ประทับเหยียบอยู่บนผิวดวงจันทร์ก็ยังปรากฎอยู่เช่นเดิม

และจะคงอยู่ไปเช่นนั้นอย่างน้อย 10 ล้านปีจนกว่าจะมีวัตถุจากอวกาศอื่นๆ ไปพุ่งชน

5. ดวงจันทร์ใช้เวลาโคจรรอบโลกและกลับสู่ตำแหน่งเดิม ภายใน 27 วัน 7 ชั่วโมง 43 นาที และ 11.6 วินาที

6. โคจรรอบโลกด้วยความเร็วประมาณ 3,683 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

7. โลกอยู่ห่างจากดวงจันทร์ 384,400 กิโลเมตร

8. พระจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก

9. เรามองเห็นพระจันทร์ เพราะแสงตกกระทบจากพระอาทิตย์

10. ดวงจันทร์ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำขึ้นน้ำลงหรือกระแสน้ำในมหาสมุทรของโลก เพราะแรงดึงดูดที่กระทำต่อกัน

ส่วนสมมติฐานการถือกำเนิดของดวงจันทร์มีหลายทฤษฎี ได้แก่

- เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโลกจากกลุ่มก้อนก๊าซขนาดยักษ์ของเนบิวลาต้นกำเนิดระบบสุริยะ

- แตกตัวออกจากโลก เพราะช่วงแรกๆ ที่โลกเริ่มก่อตัวนั้น หมุนรอบตัวเร็วมาก จนทำให้มวลสารบางส่วนหลุดไป จนกลายเป็นดวงจันทร์

- แตกตัวออกจากโลก เพราะถูกวัตถุขนาดใหญ่พอๆ กับดาวอังคารพุ่งชน

- ในระบบสุริยะจักรวาลของเรามีดวงจันทร์โคจรอยู่แล้ว กระทั่งเมื่อเข้ามาใกล้โลก จึงถูกแรงดึงดูดของโลกจับ หรือดูดเอาไว้มาเป็นดวงบริวาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น