วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

'ผังเมืองใหม่'จุดเปลี่ยนกทม.-ปริมณฑล

 หลังจาก "ผังเมืองใหม่" ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เกิดคำถามตามมามากมาย ต่อการ "ปักหมุดหมาย" พัฒนามหานครแห่งนี้ ที่กำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นร้อนอย่างการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน หรือนักอสังหาฯ มือฉมังกลุ่มใดหรือไม่ ?

             ข้อกังขาเหล่านี้... เกรียงพล พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. ได้ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษ "เครือเนชั่น" นี่คือข้อเท็จจริงอีกด้านของ "ผังเมืองใหม่"

             "การเปลี่ยนแปลงผังเมือง ตั้งแต่ฉบับแรก เมื่อปี 2535 ถึงฉบับปรับปรุงล่าสุดครั้งที่ 3 จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้อง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างถล่มทลาย อย่างฉับพลัน เพราะผังเมืองจะกระทบต่อประชาชนสูง ฉะนั้นผังเมืองทั่วโลกไม่ได้เปลี่ยนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นไปไม่ได้ มันจะกระทบสิทธิประชาชน"

             "นักวิชาการพูดกันเยอะว่า ผังเมืองเป็นความสมดุลบนความขัดแย้ง เนื่องจากภาคส่วนต่างๆ ประชาชน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเล็ก บริษัทใหญ่ ล้วนมีส่วนร่วม มีส่วนได้เสีย แต่ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว และไม่มีใครที่เสียฝ่ายเดียว เราต้องหาความสมดุลบนความขัดแย้งต่างๆ"

             เกรียงพล อธิบายว่า การมีกฎหมายผังเมือง ไม่ใช่การดำเนินการของฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว การร่างแผนยุทธศาสตร์ผังเมืองต้องผ่านการหารือสาธารณะ แน่นอนที่สุด มีความเห็นต่างจากประชาชนบางกลุ่ม แต่ก็มีบางกลุ่มที่เห็นด้วยเช่นกัน

             ดังนั้นเมื่อมีการประกาศไปแล้ว ไม่ใช่สิ่งตายตัว ยังต้องปรับปรุงต่อไป เช่น ผังเมืองรวมฉบับล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม ตลอดระยะเวลา 5-7 ปีอย่างสูง มีขนส่งมวลชนระบบรางจากเดิม 7 สาย เป็น 12 สาย มีการเติบโตของอาคาร ของชุมชนทั้งสองของทางรถไฟฟ้า 12 สาย และการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ เกิดศูนย์พาณิชยกรรมรองต่างๆ ขึ้น เช่น ศูนย์ราชการ ย่านมักกะสัน ทำให้ผังเมืองต้องวางกรอบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

             "โลกมีแนวโน้มไปในทางไปแก้ไขสภาวะโลกร้อน รวมทั้งการเกิดอุทกภัยปลายปี 2554 การร่างผังเมืองฉบับนี้จึงคำนึงถึงการป้องกันอุทกภัย หรือการผนวกเรื่องกรีนบิลดิ้ง (Green Building) ลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือยในอาคาร หรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากอาคาร หรือการให้แต่ละอาคารใหญ่มีแหล่งรับน้ำ"

             ตรงนี้อาคารที่มีแหล่งรับน้ำตั้งแต่ 1 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จะได้โบนัสพิเศษ แต่ฉบับเดิมยังไม่มี โดยในการสร้างอาคารจะต้องยื่นตั้งแต่ขอแบบว่าจะเป็นอาคารกรีนบิลดิ้ง โดยมีมูลนิธิอาคารเขียวไทยรับรองผลจาก 4 ระดับ เขาสามารถสร้างพื้นที่ของอาคารได้มากกว่าเดิมสูงสุด 20% ผลที่ออกมาตั้งแต่ตอนประชุมบรรดากลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์สนใจตัวนี้อย่างมาก

             สิ่งที่ทำให้ได้โบนัสเพิ่มมีอยู่ 5 อย่าง คือ 1.หากมีการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยรวม โดยจัดให้ชุมชนเดิมอยู่อาศัยด้วย เป็นการแก้ปัญหาสังคม โดยรูปแบบเป็นอาคารแฟลตจะได้ประโยชน์ สำหรับการจัดชั้นให้ผู้อาศัยเดิมได้อยู่ หรือจัดพื้นที่ไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากพื้นที่เดิม เขาจะได้พื้นที่ปลูกสร้างอาคารเพิ่มกว่าเดิม

             2.อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ถ้าจัดให้มีพื้นที่โล่งเพื่อสาธารณะ เพื่อลดความแออัดของอาคาร และเป็นเรื่องสวัสดิการ เช่น พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ จะมีโบนัสให้

             3.แนวรถไฟฟ้าใน 8 สถานี ในสายต้นทางปลายทาง กำหนดว่าภายในรัศมี 500 เมตร จากชานชาลาถ้าอาคารที่สร้างมีที่จอดรถเพิ่มเติมกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้มีรถเข้ามาจะได้โบนัสของอาคารเพิ่มเติม

             4.อาคารที่สามารถมีแหล่งน้ำเพื่อชะลอการผ่านน้ำตั้งแต่ 1 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จะได้โบนัสเช่นกัน

             และ 5.กรีนบิลดิ้ง เพื่อรักษาสภาวะสิ่งแวดล้อม

             “กรุงเทพฯ เป็นมหานครมา 200 กว่าปี แต่เพิ่งมีกฎหมายผังเมืองปี 2535 คือ 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผังเมืองไม่สามารถทำได้รุนแรง จะกระทบกระเทือนสิทธิประชาชน เมื่อใช้แล้วจะประเมินผลจากเสียงตอบรับทันที ไม่ใช่รออีก 5 ปี เพื่อดูว่ามีความเดือดร้อน หรือประโยชน์ตรงไหนบ้าง”

             ด้านการอนุรักษ์พื้นที่วัฒนธรรมนั้น เกรียงพล ยืนยันว่า ให้ชุมชนระดมความคิดว่า ตรงนี้ต้องเป็นย่านอนุรักษ์หรือไม่ ไม่ใช่สำนักผังเมืองคิดกันเองแค่ 3-4 คน เช่น รอบเกาะรัตนโกสินทร์ หรือย่านเยาวราช ดังนั้นใครจะทำอะไรตรงไหนในย่านอนุรักษ์วัฒนธรรม ต้องเชื่อมโยงกับสาธารณะ ขณะที่การเชื่อมโยงกับ 6 จังหวัดปริมณฑล ผังเมืองต้องคำนึงถึงด้วย ทั้งภาวะอุทกภัย หรือปริมาณจราจรที่เข้ามาในกรุงเทพฯ แต่ลักษณะโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ กทม. มีเฉพาะพื้นที่ ยังไม่อาจเป็นเนื้อเดียวกัน

             เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมืองอยากให้มีสวนสาธารณะ 6 ตารางเมตรต่อคน โดยมี 2 ประเภท คือ พื้นที่สีเขียวสาธารณะกับเอกชน จากเดิมมี 3-4 ตารางเมตรต่อคน โดยพื้นที่หน่วยราชการ ทหาร หรือในแถบฝั่งตะวันออก ตะวันตก ถ้าถามว่าดูแบบนี้เรายังมีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาเรามีการไปบรรยายเรื่องผังเมืองที่ญี่ปุ่น เขาทึ่งที่บ้านเราเป็นประเทศแรกๆ ที่ผังเมืองรองรับเรื่องโลกร้อน

             "ผังเมืองต้องคำนึงถึงแหล่งจ้างงานกับแหล่งที่อยู่อาศัย ไม่ให้ประชาชนใช้เวลาเดินทางนาน ผังเมืองต้องการให้เกิดศูนย์พาณิชยกรรมรอง อาทิ รอบถนนกาญจนาภิเษก ผังใหม่จะให้ผู้ที่อาศัยหนาแน่นน้อย ให้มีการพัฒนา เป็นแหล่งงาน หรือแหล่งช็อปปิ้ง เพื่อให้คนไม่ต้องเข้าเมือง จากเดิมมีที่บางนา สะพานใหม่ พระราม 2 ลาดกระบัง ศรีนครินทร์ แต่ตอนนี้เพิ่มที่ตลิ่งชัน มีนบุรี วงเวียนใหญ่ เป็นย่านพาณิชยกรรมรอง คล้ายดาวทาวน์ของกรุงเทพฯ จะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า"

             ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวถึงแนวพื้นที่รับน้ำว่า กำหนดไว้เหมือนเดิม อาจจะหายไปบ้างในพื้นที่มีนบุรี แต่ไม่มีนัยอะไร อีก 5 ปีข้างหน้ามีปัจจัยหลายเรื่องที่ทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยน ทั้งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีจีดีพี 29% ถือว่าสูงที่สุดในประเทศ หากรวมจีดีพีจังหวัดรอบกรุงเทพฯ เฉลี่ยที่ 55-56% แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งมากองอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมจะเอื้อการพัฒนาเศรษฐกิจของประชาชน แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องสมดุลกับประโยชน์ของประชาชนเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความปลอดภัย

             ส่วนแนวคลองจะมีการกำหนดไว้เพื่อเชื่อมต่อโดยทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม ถือเป็นผังเมืองแรกของประเทศที่เป็นผังทำให้เห็นเรื่องสาธารณูปโภค ทำให้เห็นว่าบริเวณไหนการเติบโตต้องขยายตัว การให้บริการสาธารณะน้ำ ไฟ ขยะ ถนน เพียงพอหรือไม่ เพื่อให้เป็นกรอบการพัฒนาทุกหน่วยงานยึดถือ ไม่ใช่ให้หน่วยงานขีดเส้นเอง ต้องมาดูผังเมืองรวม ต้องมาบูรณาการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการพัฒนากรุงเทพฯ

             “การเติบโตของกรุงเทพฯ อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการขยายตัวไปทางทิศตะวันออกมากกว่าทิศตะวันตก อย่าลืมว่าสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ทางตะวันออก ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นที่ตั้งของโครงการใหญ่ๆ อีก 5 ปี ฝั่งตะวันออกค่อนข้างจะมีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น เชื่อมต่อการเติบโตระยอง ชลบุรี และลาดกระบัง ขณะที่ย่านบางพลัด บางกอกน้อย ราษฎร์บูรณะ จะลดประโยชน์จากการใช้ที่ดินจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นมาก เป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เพราะเป็นพื้นที่ถนนแคบ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ทัน จึงต้องปรับเป็นพื้นที่ดาวโซน" ผอ.สำนักผังเมือง กล่าว




(หมายเหตุ : 'ผังเมืองใหม่'จุดเปลี่ยนสำคัญ กทม.-ปริมณฑล  : ธนัชพงศ์ คงสายสำนักข่าวเนชั่นรายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น