ยานโคจรสำรวจดวงจันทร์ "แอลอาร์โอ" ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศ สหรัฐอเมริกา มีชื่อเต็มยศ ว่า
ลูนาร์ รีคอนเนสเซนซ์ ออร์บิเตอร์
และผลจากการนำข้อมูล "ภาพถ่าย" แอลอาร์โอ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลภารกิจสำรวจดวงจันทร์ต่างกรรมต่างวาระตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์นาซ่า รวมถึงพันธมิตรในวงการดาราศาสตร์ พบหลักฐานใหม่ ว่า
พื้นผิวบริเวณเปลือกของดวงจันทร์ได้เกิดรอยแตก หรือรอยเลื่อนปรากฏขึ้นมา
ทำให้ผิวดวงจันทร์เกิด "รอยย่น" พร้อมๆ กับ "หดตัว"
กระเถิบหดตัวเข้ามาใกล้พื้นผิวบริเวณจุดศูนย์กลางมากกว่าเดิมราว 1 สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน หรือราวๆ 300 ฟุต
ไมเคิล วาร์โก หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์แผนกสำรวจดวงจันทร์ ของนาซ่า บอกว่า
ในเชิงทฤษฎีเชื่อกันว่า เปลือกและผิวดวงจันทร์หยุดการเคลื่อนตัว หรือหยุดการเคลื่อนไหวทางโครงสร้างมานานหลายพันล้านปี
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เปลือกดวงจันทร์นั้น "ตายสนิท" สงบนิ่งไปเรียบร้อยแล้ว
แต่การค้นพบครั้งใหม่นี้ โดยยานแอลอาร์โอ ทำให้นาซ่าแปลกประหลาดใจอย่างมาก
ทั้งยังช่วยเปลี่ยน "มุมมอง" ทางธรณีวิทยา ที่มีต่อดวงจันทร์อย่างสิ้นเชิง!
"เราเคยคิดว่าดวงจันทร์ตายไปแล้วและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ตอนนี้เรากลับพบว่ามันมีพลวัตใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน" วาร์โก กล่าว
2.สภาพพื้นผิวบนดวงจันทร์ เมื่อมองจากกล้องบนยานแอลอาร์โอ 3.ภาพตัวอย่างรอยเลื่อน ซึ่งพาดผ่านหลุมบนดวงจันทร์ 4.รอยแตก หรือรอบเลื่อนใหม่บนดวงจันทร์ ที่พบโดยยานแอลอาร์โอ 5.ภาพจำลองการตั้งฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ของนาซ่า 6.ภาพถ่ายดวงจันทร์ |
ด้าน ดร.โธมัส วัตเตอร์ส จากศูนย์ศึกษาโลกและดาวเคราะห์ พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติ สมิธโซเนียน ของสหรัฐ หนึ่งในคณะศึกษาข้อมูลใหม่ดังกล่าว ระบุว่า
สภาพแวดล้อมของดวงจันทร์เริ่ม ต้นจากการถูกอุก กาบาต และดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจำนวนนับไม่ถ้วน
การพุ่งชนนี้ เมื่อประกอบกับการเสื่อมสลายของรังสีต่างๆ ทำให้พระ จันทร์ "ร้อนจัด"
จากนั้นจึงค่อยๆ สงบเย็นลงไปตามกาลเวลา ซึ่งในช่วงนั้นเอง เปลือก-ผิวของมันก็ค่อยๆ หดตัวลงไปจนหยุดนิ่ง กลายเป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระ
อย่างไรก็ตาม ภาพใหม่ล่าสุดจากกล้องบนยานแอลอาร์โอ แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของ "เนินชัน" หรือ "ผาชัน" ซึ่งเกิดขึ้นไม่ไกลจากฝั่งตะวันตกของจุดลงจอดยานอวกาศในโครงการ "อพอลโล 17" ในอดีต
โดยเนินชันที่ว่านี้...ถ้าเปรียบกับลักษณะธรณีวิทยาบนพื้นโลก ก็คือ
รอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ "ขบ" บดเกยทับซ้อนกัน ซึ่งส่งผลให้เปลือกดวงจันทร์ขยับตัวบีบเข้ามาชิดกันมากขึ้นนั่นเอง
แต่ดร.วัตเตอร์ส ย้ำด้วยว่า จากการ วิเคราะห์ขั้นต้น คาดว่าเนินชันที่พบในภาพถ่ายของยานแอลอาร์โอ น่าจะมีอายุหรือเกิดขึ้นมาในห้วงเวลาไม่กี่ร้อยล้านปี ไปจนถึงประมาณ 1 พันล้านปีก่อน
เพียงแต่เทคโนโลยีของมนุษย์เพิ่งไปค้นพบ
"ผลลัพธ์จากการค้นพบอันน่าตื่นเต้นครั้งนี้ ยิ่งทำให้เราต้องเพิ่มความสำคัญกับการเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของโลก
"นอกจากนั้น ยิ่งเราใช้ภารกิจแอลอาร์โอศึกษาลงลึกในรายละเอียดจนชัดเจนมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ประวัติศาสตร์การถือกำเนิดของดวงจันทร์ รวมถึงระบบสุริยะมากขึ้นเท่านั้น"
ดร.จอห์น เคลเลอร์ รองผู้ควบคุมโครงการแอลอาร์โอ ประจำศูนย์การบินอวกาศก๊อดดาร์ดของนาซ่า กล่าว
สำหรับร่องรอยเนินชัน หรือรอยเลื่อนใหม่ที่ยานแอลอาร์โอจับภาพได้นั้น มีขนาดไม่ใหญ่ไม่โตอะไรมากนัก
โดยสูงประมาณ 300 ฟุต และขยายตัวกินรัศมีราวๆ 2-3 ไมล์
ด้านดร.วัตเตอร์ เสริมว่า รอยย่น-รอยแตกแบบเดียวกันนี้ พบมากบนผิว "ดาวพุธ"
แต่บนดาวพุธนั้นจะมีขนาดสูงชันหรือกินพื้นที่ยาวกว่าที่พบบนดวงจันทร์มาก
ส่วน "ที่มา" รอยแตกล่าสุดในเปลือกดวงจันทร์นั้น มีหลายสมมติฐานด้วยกัน เช่น
1. เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว
2. เกิดขึ้นเพราะพระจันทร์ถูกอุกกาบาตชน
3. เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศช่วงกลางวัน-กลางคืน ที่แตกต่างกันสุดขั้ว
และ 4. เป็นผลจากแรงดึงดูดของโลก แต่มีความเป็นไปได้น้อย
ขั้นตอนต่อไป คณะทำงานนาซ่ามีแผนเปรียบเทียบภาพต่างๆ จากยานแอลอาร์โออย่างละเอียด
เพื่อดูว่าในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่ต่อไป
ลึก-แต่ไม่ลับ
รวมเรื่องน่ารู้"ดวงจันทร์"
1. ดวงจันทร์มีอายุประมาณ 4.5 พันล้านปี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,476 กิโลเมตร อุณหภูมิกลางวัน 130 องศา เซลเซียส อุณหภูมิด้านกลางคืน -170 องศา เซลเซียส
2. พื้นที่บนพื้นผิวดวงจันทร์ส่วนที่หันหน้าเข้าหา "โลกมนุษย์" นั้นจะเป็นจุดเดียวกันเสมอ
3. วงโคจรดวงจันทร์จะค่อยๆ ถอยห่างจากโลก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเทียบกับยุคต้นๆ ของโลกนั้น ถ้าเรามองขึ้นไปบนฟ้าจะเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่าปัจจุบันประมาณ 3 เท่า
4. บนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่ จึงไม่มี "ลม" หรือการสึกกร่อนของพื้นผิว
พื้นผิวบนดวงจันทร์ทุกวันนี้มีสภาพคล้าย คลึงกับเมื่อ 3-4 พันล้านปีก่อนมาก
รอยเท้ามนุษย์อวกาศสหรัฐที่ประทับเหยียบอยู่บนผิวดวงจันทร์ก็ยังปรากฎอยู่เช่นเดิม
และจะคงอยู่ไปเช่นนั้นอย่างน้อย 10 ล้านปีจนกว่าจะมีวัตถุจากอวกาศอื่นๆ ไปพุ่งชน
5. ดวงจันทร์ใช้เวลาโคจรรอบโลกและกลับสู่ตำแหน่งเดิม ภายใน 27 วัน 7 ชั่วโมง 43 นาที และ 11.6 วินาที
6. โคจรรอบโลกด้วยความเร็วประมาณ 3,683 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
7. โลกอยู่ห่างจากดวงจันทร์ 384,400 กิโลเมตร
8. พระจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตก
9. เรามองเห็นพระจันทร์ เพราะแสงตกกระทบจากพระอาทิตย์
10. ดวงจันทร์ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำขึ้นน้ำลงหรือกระแสน้ำในมหาสมุทรของโลก เพราะแรงดึงดูดที่กระทำต่อกัน
ส่วนสมมติฐานการถือกำเนิดของดวงจันทร์มีหลายทฤษฎี ได้แก่
- เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโลกจากกลุ่มก้อนก๊าซขนาดยักษ์ของเนบิวลาต้นกำเนิดระบบสุริยะ
- แตกตัวออกจากโลก เพราะช่วงแรกๆ ที่โลกเริ่มก่อตัวนั้น หมุนรอบตัวเร็วมาก จนทำให้มวลสารบางส่วนหลุดไป จนกลายเป็นดวงจันทร์
- แตกตัวออกจากโลก เพราะถูกวัตถุขนาดใหญ่พอๆ กับดาวอังคารพุ่งชน
- ในระบบสุริยะจักรวาลของเรามีดวงจันทร์โคจรอยู่แล้ว กระทั่งเมื่อเข้ามาใกล้โลก จึงถูกแรงดึงดูดของโลกจับ หรือดูดเอาไว้มาเป็นดวงบริวาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น